BAY รุกขยายสาขาดิจิทัล Smart Branch วางเป้าเพิ่มเป็น 12 สาขาในปี 62 ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 1, 2018 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารได้ปรับรูปแบบสาขาตามกลยุทธ์ ‘Smart’ Channel Strategy ครอบคลุมทุกการให้บริการ ‘Smart’ banking, Smart investment, Smart people และ Smart technology ภายใต้หลักการดำเนินธุรกิจโดยการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) ปรับรูปแบบการให้บริการให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป โดย ล่าสุด เปิดตัว Krungsri Siam Paragon Smart Branch สาขาต้นแบบ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการในยุคดิจิทัล โดยธนาคารมีแผนจะขยาย ‘Smart’ branch รวมเป็น 12 สาขา ภายในปี 62 เน้นตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ เป็นหลัก

ทั้งนี้ Smart branch เป็นสาขารูปแบบใหม่ที่ผ่านการออกแบบที่เน้นความสำคัญของ Space Staff และ Speed พร้อมให้บริการด้วยเครื่องอัตโนมัติ สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบทุกด้าน ครอบคลุมหลากหลายธุรกรรมทั้ง ฝาก ถอน โอน จ่าย อัพเดทสมุดบัญชี และเปิดบัญชีอัตโนมัติ โดยลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งสะดวกและรวดเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสำหรับสาขา Smart Branch รูปแบบใหม่นี้ ในเฟสแรกจะสามารถทำธุรกรรมเฉพาะการเปิดบัญชี พร้อมออกบัตรเดรบิตก่อน และในเฟสที่ 2 จะขยายไปสู่การให้บริการ ฝาก ถอน โอน จ่าย และ Cross-Selling คาดว่าจะเห็นได้ในต้นปี 62

"สาขารูปแบบใหม่นี้ เราใช้เงินลงทุนประมาณ 8-10 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ภายใน 4-5 ปี เนื่องด้วยสาขาดังกล่าวเราจะใช่พนักงานลดลง ประมาณ 6-7 ท่าน จากสาขาปกติที่ใช้พนักงานประมาณ 12 ท่าน โดยในเรื่องของต้นทุนในระยะยาวน่าจะลดลงอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันเรายังคงนโยบายขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้มีนโยบายลดพนักงงานลง"นายพงษ์อนันต์ กล่าว

ณ วันที่ 30 ก.ย.61 ธนาคารฯ มีสาขาในรูปแบบ Branch อยู่ที่ 662 สาขา และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 664 สาขาในสิ้นปีนี้ และปีหน้าจะเพิ่มเป็น 666 สาขา และมีตู้ ATM อยู่ที่ 6,615 ตู้ คาดสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 6,700 ตู้ และในปีหน้าจะเพิ่มอีก 100 ตู้ เป็น 6,800 ตู้ รวมถึง Banking Agent ปัจจุบันร่วมกับทางไปรษณีย์ครอบคลุมทั้งสิ้น 2,000 แห่ง และตู้เติมเงินบุญเติม ครอบคลุมทั้งสิ้น 1.2 แสนตู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรแบงก์กิ้งเอเย่นต์เพิ่มเติมอีกจำนวน 2 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในต้นปีหน้าอย่างน้อย 1 ราย

นายพงษ์อนันต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนปริมาณการทำธุรกรรมผ่านสาขาในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงเล็กน้อยราว 5-10% จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการทำธุรกรรมผ่านทางโมบายแบงก์กิ้งเพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 เท่า ส่วนปริมาณการทำธุรกรรมผ่านตู้ ATM ยังคงเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการทำธุรกรรมหลักยังคงมาจาก ATM ราว 46% รองลงมาคือ การทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้ง ราว 44% และที่เหลือเป็นอื่นๆ

สำหรับเป้าหมายการขยายสินเชื่อรายย่อยในปี 62 ธนาคารคาดว่าจะเติบโตได้ 10% หรือคิดเป็นเม็ดเงินปล่อยใหม่ 1 แสนล้านบาท จากปีนี้ก็คาดว่าจะเติบโต 10% จากฐานสินเชื่อรายย่อยคงค้างที่ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อที่อยู่อาศัย เติบโต 10% จากปีนี้เติบโต 11% หรือ คิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 8 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคลเติบโต 2% จากปีนี้เติบโต 2% หรือ คิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 1.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ค่าธรรมเนียมจากสินเชื่อรายย่อยปี 62 ตั้งเป้าเติบโต 10% จากปีนี้โต 9% โดยมาจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด เติบโต 26% และธุรกิจประกัน เติบโต 16%

ด้านหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อรายย่อยในปี 62 คาดจะควบคุมให้อยู่ในระดับ 2.6-2.7% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปัจจุบัน จากทั้งระบบที่อยู่ในระดับมากกว่า 3%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ