AOT ชงทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิเข้าบอร์ด ธ.ค.61- ม.ค.62 แนวโน้มไม่รวม Terminal 2

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 9, 2018 13:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท. คาดว่า ฝ่ายบริหาร ทอท.จะเสนอหลักเกณฑ์การประกวดราคา(ทีโออาร์) ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต่อคณะกรรมการบริษัทได้ในเดือน ธ.ค. 61 หรือในเดือน ม.ค.62 โดยพื้นที่ที่จะเปิดประมูลจะรวมพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1(พื้นที่เดิม) และพื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (แซทเทิลไลท์) ส่วนจะรวมพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2 2) หรือไม่ ขณะนี้มีน้ำหนักมากที่จะไม่รอรวมพื้นที่ส่วนนี้ เพราะยังติดปัญหารอคำตอบจากอัยการว่าทอท.ควรดำเนินการอย่างไร หลังมีข้อพิพาทงานออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งหากมีความชัดเจนในเดือน พ.ย.นี้ก็ตาม ก็ยังต้องรอเจรจากับบมจ.การบินไทย (THAI) ที่จะใช้พื้นที่ภายใน Terminal 2 ซึ่งไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานเท่าไร จึงเกรงว่าหากนับมารวมจะทำให้การประมูลออกไปล่าช้า ไม่ทันที่ผู้ประกอบการใหม่จะเข้าใช้พื้นทีได้ทันก่อนหมดสัญญาใน 27 ก.ย. 63

นอกจากนี้ พื้นที่ดิวตี้ฟรีภายในท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งจะหมดสัญญาพร้อมกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น นายนิตินัย กล่าวว่า จะต้องกลับไปพิจารณาก่อนว่า จะนำมารวมกันแล้วและเปิดประมูลในคราวเดียวกันหรือไม่ โดยเบื้องต้น พื้นที่ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่มีไม่มาก อาจจะรวมกันประมูล แต่ยังต้องขอรอดูพื้นที่ในท่าอากาศยานภูเก็ตก่อนหากมีพื้นที่ใหญ่พอก็จะแยกสัญญาออกมาประมูลต่างหากจากพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หากไม่ใหญ่มากก็มีแนวโน้มจะเปิดประมูลในสัญญาเดียวกัน

ทั้งนี้จะสรุปร่างทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรีทั้ง 4 ท่าอากาศยานเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทได้พร้อมกัน

"สรุปในเดือนธ.ค. นี้ หรือ ม.ค. 62 จะเอาเข้าบอร์ด ขณะนี้ก็เริ่มเขียนทีโออาร์ เราให้น้ำหนักมากที่จะไม่รอรวม Terminal 2 เราจะทำเป็นสัญญาส่วน Retail และ บริหารสต๊อกสินค้า ส่วนจะรวมกับสนามบินอื่นอีก 3 แห่ง ขอดูอีกที ยังไม่เห็นตัวเลข "นายนิตินัย กล่าว

ทั้งนี้ พื้นที่ดิวตี้ฟรี ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ท่าอากาศยานดอนเมือง รวมกันมีสัดส่วน 95%ของพื้นที่รวม 6 ท่าอากาศยาน

นายนิตินัย กล่าวว่า การไม่นำพื้นที่ภายใน Terminal 2 มารวมกับพื้นที่เดิม และ แซทเทิลไลท์ ทำให้การกำหนดเงื่อนไขราคาไม่เหมือนเดิม รวมทั้งทิศทางการเคลื่อนตัวของผู้โดยสารภายในอาคารด้วย แต่หากเปิดพื้นที่มาก จะทำให้ราคาพื้นที่ต่อตารางเมตรก็จะลดลง หากพื้นที่น้อยราคาต่อตารางเมตรก็จะได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า หากไม่รวมพื้นที่ Terminal 2 ราคาประมูลก็ไม่น่าจะต่ำ และทอท.ก็ยึดตัวเลขที่ผู้เสนอราคาให้อัตราผลตอบแทนสูงสุดแก่ ทอท. ซึ่งในการเสนอซองราคาจะมีการให้ผลตอบแทนขั้นต่ำอยู่แล้ว

"ในการ Bidding ก็มี Minimum Guarantee เพราะต้องการ safe กรณีเขาขายไม่ดีเราก็ไม่เกี่ยว แต่เราก็ภาวนาว่าอย่าไม่ดีมากจนถึง พัง ของคิงเพาเวอร์ ในอดีต. ปีที่ 7 ค่อยพ้น minimum Guarantee มาหลายเปอร์เซ็นต์ พอช่วงเขาอ่อนแอคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ได้รายได้น้อย เราไม่รับผิดชอบ พอแข็งแรง พอมีรายได้มากก็ขอเป็น % หรือจากส่วนแบ่งรายได้ ดังนั้นส่วนตัว Bidding ก็คือ Bidding คนที่ใส่ซองให้ Minimum Guarantee สูงสุดเป็นผู้ชนะ" นายนิตินัย กล่าว

ในเบื้องต้น มองว่าหากแบ่งแยกสัญญามากเกินไป แยกตามหมวดสินค้า จะทำให้การบริหารจัดการยุ่งยากเกินไป โดยปัจจุบัน ทอท.เข้ามาจัดการตามประเภทของธุรกิจอยู่แล้ว อาทิ งานโฆษณา งานบริหารจัดการเล้าจน์ภายในสนามบิน ลีมูซีน ขายของ ซึ่งในส่วนนี้รวมอยู่ในดิวตี้ฟรี ซึ่งมีทั้งพื้นที่ร้านค้าปลีก (Retail) ที่แยกแบ่งเช่าทำเป็นร้านอาหารภายในสนามบิน และส่วนบริหารสต๊อกสินค้าซึ่งรวมจำหน่ายสินค้าต่างๆ ได้แก่ น้ำหอม กระเป๋า เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ