อดีตผู้บริหาร TSE เผยศาลนัดสืบพยานคดีเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นปี 54 ในเดือนมี.ค. 62

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 13, 2018 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัศวิทย์ วิรัชพันธ์ หัวหน้าทีมกฎหมายของนายไพบูลย์ มัทธุรนนท์ อดีตผู้บริหารบมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ส.ค.61 ที่ผ่านมา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ได้นัดพร้อม (ทั้งฝ่ายโจทย์และจำเลย) และได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งฝ่ายโจทย์และจำเลย ในคดีหมายเลขดำ 1076/2554 ตามที่ตนยื่นฟ้อง TSE ขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ ในวันที่ 12 มี.ค.62 จนถึงวันที่ 15 มี.ค.62 เป็นการสืบพยานทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสาร โดยหลังจากสืบพยานแล้ว คาดว่าศาลจะใช้เวลา 30-90 วัน จะมีคำพิพากษาออกมา

อนึ่ง นายไพบูลย์ ได้ยื่นฟ้อง TSE ขอให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ และศาลได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ 1076/2554 และต่อมามีคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3897/2556 ที่ริบหุ้นของนายไพบูลย์จำนวน 23.66 ล้านหุ้น นำออกขายทอดตลาด ซึ่งต่อมาคดีสิ้นสุดที่ศาลฎีกานั้น นายไพบูลย์ซึ่งเป็นโจทย์ได้ขอให้ศาลยกคดีหมายเลขดำ 1076/2554 ขึ้นพิจารณา หลังจากคดีอื่นสิ้นสุดแล้วซึ่งเป็นไปตามคำสั่งศาล โดยนายไพบูลย์ เป็นโจทย์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้มติในการประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 พ.ค.54 และในการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญครั้งที่ 2/2554 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.54 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลใช้บังคับและให้ใช้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับเดิม คือฉบับลงวันที่ 23 ธ.ค.53 มีผลบังคับ และให้ใช้จำนวนและอำนาจกรรมการชุดก่อนวันที่ 18 พ.ค.54 มีผลบังคับและมีอำนาจต่อไป ซึ่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับเดิม ซึ่งมีชื่อนายไพบูลย์ ถือหุ้น 23.66 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 26.06%.ในขณะนั้น

รวมทั้งให้ TSE จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงจำนวนและอำนาจกรรมการต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการของจำเลยมี 3 คน คือ 1.นายประชา มาลีนนท์ 2.นายไพบูลย์ มัทธุรนนท์ 3.นายธีรยุทธ ทุมมานนท์ กรรมการ 1 คนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทได้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

และให้ TSE ยื่นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับลงวันที่ 23 ธ.ค.53 ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

นอกจากนี้นายไพบูลย์ได้ยื่นคำร้องวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย เพื่อขอศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายในประเด็นสำคัญของคดีว่า การส่งคำบอกกล่าวการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นของ TSE การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และการลงมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ครั้งชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1195 หรือไม่

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง TSE และเป็นเพื่อนนายประชา ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ต่อมาได้ชักชวนนายประชาร่วมลงทุนทำธุรกิจพลังงานทดแทนจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยขณะนั้นมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจอยู่ 10 ใบ และเห็นว่าควรทยอยทำทีละโรง แต่นายประชากลับไม่เห็นด้วยต้องการทำคราวเดียว 4-5 โรง ซึ่งตนเองก็ไม่เห็นด้วยการเพิ่มทุน เพราะไม่มีเงินทุนเพียงพอในการลงทุน โดยขณะนั้น นายไพบูลย์ถือหุ้น 26% ส่วนนายประชาถือหุ้น 40% หลังจากนั้นเกิดเรื่องการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น และลงคะแนนมติการเพิ่มทุน ซึ่งต้องมีมติเห็นด่วย 3 ใน 4 หรือ 75% โดยที่ตนเองไม่ได้รู้หรือได้รับการบอกกล่าวแต่อย่างใด รวมถึงเรื่องที่นายประชาอ้างว่า ตนเองค้างชำระค่าหุ้น 5 ล้านบาทและริบหุ้นออกนำมาขายทอดตลาด และมีนอมินีนายประชาเข้ามาซื้อแทน ซึ่งตนปฏิเสธไม่เคยค้างชำระค่าหุ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ TSE เข้าตลาดหุ้น ตนเองได้เข้าซื้อหุ้น TSE จำนวน 10,291 หุ้น (ณ วันที่ 11 ก.ค.61)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ