GULF คาดรายได้ปี 68 แตะแสน ลบ.จากการทยอย COD โรงไฟฟ้าในมือ-H1/62 ชัดเจนดีลใหม่, ปฎิเสธข่าวซื้อ GLOW-WEH

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 20, 2018 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) คาดว่ารายได้ของบริษัทจะปรับขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ราว 1.4-1.5 แสนล้านบาทในปี 2568 จากการทยอยเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือตามแผน ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างพัฒนาทั้งโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP), โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP), โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และลม ในเวียดนาม ,โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในโอมาน ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วเพิ่มเป็นกว่า 6,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันยังมองโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าสร้างใหม่ และการซื้อกิจการ (M&A) ในต่างประเทศเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าดีลใหม่ดังกล่าวจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2562

ส่วนกระแสข่าวเรื่องการจะเข้าซื้อกิจการบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) และบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) นั้นบริษัทไม่มีความสนใจ และขณะนี้ก็ไม่ได้เข้าไปพิจารณาโครงการ

"รายได้ปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ปีหน้าก็จะปรับขึ้นเป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาท ปีถัด ๆ ไปก็คงจะขึ้นไปอีก เพราะโรงไฟฟ้าของเราจะทยอย COD เรื่อย ๆ จนถึงปี(ค.ศ.) 2025 เราก็จะโตเยอะมากรายได้น่าจะแตะแสนล้านบาทได้ในปี 2025...ส่วนข่าวเรื่องการเข้าไปซื้อหุ้น GLOW และวินด์ ก็เป็นเพียงข่าว เราไม่มีความสนใจ ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง ตอนนี้ไม่ได้ดู อนาคตเรายังตอบไม่ได้"นายสารัชถ์ กล่าว

นายสารัชถ์ กล่าวอีกว่า บริษัทอยู่ในธุรกิจพลังงาน มีผู้มานำเสนอโครงการเข้ามามากมาย ซึ่งบริษัทก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าน่าลงทุนหรือน่าซื้อหรือไม่ เพราะแต่ละโครงการมีมูลค่าสูงนับหมื่นนับแสนล้านบาท โดยต้องพิจารณาทั้งอัตราผลตอบแทนการลงทุนว่าจะคุ้มค่ากับต้นทุนทางการเงินที่จะใช้ลงทุนหรือไม่ด้วย อย่างไรก็ตามบริษัทก็ยังมองหากำลังการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาเพื่อรองรับการเติบโต ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือและอยู่ระหว่างพัฒนาก็ต้องให้สามารถ COD ได้ตามกำหนดเพื่อให้อยู่ภายใต้ต้นทุนที่กำหนดไว้ และโรงไฟฟ้าที่ COD อยู่แล้วก็จะต้องบริหารจัดการเพื่อให้สามารถเดินเครื่องผลิตได้อย่างราบเรียบด้วย

ทั้งนี้ เชื่อว่าในอนาคตบริษัทจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังการ COD โรงไฟฟ้าในมือครบช่วงปี 2568 แล้วก็เชื่อว่าจะมีกำลังผลิตใหม่เข้ามาต่อเนื่องเพื่อให้บริษัทเติบโตได้ อย่างโครงการในเวียดนามที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาแล้ว ก็อาจจะมีการลงทุนอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในโอมาน ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ก็มีโอกาสที่จะมองหาการเติบโตได้เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้บริษัทยังได้เข้าไปซื้อซองเพื่อร่วมประมูลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ด้วยแต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้ายื่นประมูลหรือไม่ เพราะต้องศึกษาว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุนหรือไม่ อย่างไร

นายสารัชถ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทได้ถอนการยื่นฟ้องคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่กกพ.ไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ให้กับบริษัท เนื่องจากไม่ต้องการเสียเวลา และรัฐบาลก็ได้เปลี่ยนคณะกรรมการกกพ.ชุดใหม่แล้ว ก็น่าจะมีการเจรจาที่มีเหตุผลมากขึ้น ส่วนจะกลับไปยื่นขอใบอนุญาต LNG Shipper หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้เพราะต้องพิจารณาว่าในอนาคตการขอใบอนุญาตจะมีเงื่อนไขที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร และปัจจุบันที่กกพ.ให้ใบอนุญาตดังกล่าวแต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาได้นั้น ก็ต้องรอดูการดำเนินการของกฟผ.ก่อนด้วยว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ