MBKET มองหุ้นไทย Q1/62 แกว่งผันผวน 1,550-1,750 จุด จากสงครามการค้า-ยกเลิก QE กดดัน แม้หวังปัจจัยในปท.หนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 25, 2018 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET คาดการณ์ภาพรวมการลงทุนในช่วงไตรมาส 1/62 ตลาดยังคงแกว่งผันผวนในกรอบแนวต้าน 1,750 จุด และแนวรับ 1,550 จุด โดยปัจจัยขับเคลื่อนมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุนจากภาครัฐฯ 2.ความคาดหวังก่อนการเลือกตั้ง และ 3.โอกาสที่แนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐฯ จะปรับขึ้นช้ากว่าคาด

ส่วนประเด็นที่ยังคงเป็นปัจจัยกดดันหลัก ยังคงเป็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Trade war) ซึ่งหากยืดเยื้อต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีหน้ามี downside มากขึ้นจากคาดการณ์ปัจจุบัน รวมถึงการยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เม็ดเงินสภาพคล่องส่วนหนึ่งหายไป

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ยังคงแนะทยอยสะสมหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ Domestic Play อิงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายภาครัฐฯ เช่น กลุ่มค้าปลีก (CPALL, BJC, HMPRO), กลุ่มโรงไฟฟ้า (EGCO) เก็งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่, กลุ่มท่องเที่ยว (AOT, ERW) เก็งการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทย, กลุ่มธนาคาร (BBL) รับอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้นรอบใหม่ รวมถึงหุ้นที่แนวโน้มกำไรยังเติบโตก้าวกระโดดในปี 62 (SAWAD, JMT, VGI)

นายวิจิตร กล่าวว่า ปัจจัยที่น่าติดตาม ได้แก่ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ยังคงเป็นสาเหตุหลักที่กดดันทิศทางการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงโลก โดยแม้ว่าประเด็นการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน วงเงิน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 10% ขึ้นสู่ 25% จะเลื่อนการพิจารณาออกไป 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดราว 1 มี.ค.62 แต่ในระยะสั้นยังคงเห็นท่าทีอันแข็งกร้าวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้เชื่อว่าปัญหานี้คงยังไม่สามารถคลี่คลายได้ในระยะสั้น ซึ่งจะเป็นจุดที่กดดันการลงทุนต่อเนื่อง

ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กดดันการลงทุนเข้าสู่โหมด Risk off จากประเด็นสงครามการค้าโลก ซึ่งหากยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง คาดจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงถัดไปมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ โดยล่าสุดหากพิจารณาในเชิงตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศสำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) , PMI ทั้งภาคการผลิตและบริการ ล้วนพบการชะลอตัวลงอย่างเห็นชัด โดยในระยะสั้นจุดที่น่าติดตามคือ PMI ภาคการผลิต ของจีน ที่ล่าสุดเดือน พฤศจิกายน ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50 จุด ถือเป็นจุด critical ซึ่งหากต่ำกว่านี้จะบ่งชี้การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจหดตัว ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการปรับฐานได้อีกครั้ง

ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลก โดยประเมินทุก ๆ ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มีโอกาสกดดันกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยรวม ลดลงราว 5,000 ล้านบาท (ไม่คิดรวมผลกระทบจาก Stock loss) หรือคิดเป็นแรงกดดันต่อกำไรต่อหุ้น ของตลาดในปี 62 (2019 SET EPS) ราว -0.5 จุด ต่อราคาน้ำมันดิบที่ลดลง 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล (ประเมิน 2019 SET EPS ที่ 116 บาทต่อหุ้น อิงสมมติฐานน้ำมันดิบปี 62 เฉลี่ยที่ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐ โดยระยะสั้นเริ่มเห็นนโยบายจากภาครัฐเร่งตัวขึ้น ทั้งการกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือนโยบายช็อปช่วยชาติ อีกทั้งงานประมูลโครงสร้างพื้นฐานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 62 อีกกว่า 9 แสนล้านบาท น่าจะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นต่อการลงทุนมากยิ่งขึ้น รวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของประเทศไทยฉบับใหม่ ซึ่งคาดจะออกมาช่วงเดือน ม.ค.62 ล้วนเป็นปัจจัยที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวขึ้น

การเลือกตั้งไทย ปี 62 สัญญาณการเลือกตั้งชัดเจนมากยิ่งขึ้น คาดเป็นแรงส่งต่อภาพรวมการลงทุนในช่วงแรก แต่อย่างไรก็ดีการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ในช่วงถัดไปจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น อาจต้องระมัดระวังหลังเลือกตั้งอาจเห็นสัญญาณการปรับฐานลงได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ