โบรกฯเชียร์"ซื้อ" KBANK มองกำไรปี 62 โตต่อเนื่องจากสินเชื่อรายใหญ่-เอสเอ็มอีหนุน-ดูแล NIM, Valuation น่าสนใจ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 14, 2019 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้นธนาคารกสิกรไทย (KBANK) หลังราคาหุ้นปรับลดลงค่อนข้างมาก ทำให้มี Valuation ที่น่าสนใจ ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงานยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 62 จากการขยายตัวที่ดีของสินเชื่อ โดยเฉพาะจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ตามความชัดเจนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เริ่มทยอยออกมา และการลงทุนโครงการของภาคเอกชนเข้ามาหนุน

พร้อมกันนี้ KBANK ยังเน้นการรักษาหรือเพิ่มอัตราส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ให้มากขึ้น จากสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.25% ต่อปี มองว่าไม่กระทบผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ KBANK มีสัดส่วนเงินฝากประจำที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับเงินฝากออมทรัพย์ ด้านสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าจะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจที่กลับมาชะลอตัว และการที่หันมาบริหารหนี้เสียเองมากขึ้นแทนการขายหนี้ออกไป

ราคาหุ้น KBANK ปิดตลาดอยู่ที่ 181 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 0.28% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ลดลง 0.91%

          โบรกเกอร์                       คำแนะนำ                   ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
          ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ                   ซื้อ                           270
          เอเซีย พลัส                        ซื้อ                           251
          ฟิลลิป (ประเทศไทย)                 ซื้อ                           249
          โนมูระ พัฒนสิน                      ซื้อ                           242
          ฟินันเซีย ไซรัส                      ซื้อ                           238
          ทรีนีตี้                             ซื้อ                           234
          เคจีไอ (ประเทศไทย)                ซื้อ                           215

นางสาวอาภาภรณ์ แสวงพรรค ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ KBANK ในปี 62 ยังมีแนวโน้มที่เติบโตได้ค่อนข้างดี ประเมินจากการที่หันมาบริหาร NIM ด้วยการเน้นขยายสินเชื่อในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมากขึ้น อย่างสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งยังมีสัดส่วนที่สามารถขยายเพิ่มได้อยู่ตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่จะเป็นการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังมากขึ้น

ประกอบกับในส่วนของลูกหนี้ที่มีปัญหาเป็นหนี้เสีย ก็จะหันมาใช้การปรับโครงสร้างหนี้และบริหารหนี้เองมากขึ้น แทนการขายหนี้เสียออกไปอย่างในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษา NIM ให้ทรงตัว หรือเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย โดยคาดว่า NIM ของ KBANK ในปี 62 จะอยู่ในกรอบที่ตั้งเป้าหมายไว้ 3.3-3.5% ขณะที่ NPL อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากเพิ่มประมาณการกรอบของ NPL ให้กว้างขึ้นเป็น 3.3-3.7% แต่กรณีนี้ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำขึ้นในอัตรา 0.25% ต่อปี มองว่ายังไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของ KBANK มากนัก เพราะเงินฝากประจำที่มีสัดส่วนกว่า 20% ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับเงินฝากออมทรัพย์ แต่ปัจจัยที่กดดันกำไรของ KBANK เป็นเรื่องรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังหดตัวต่อเนื่องในปีนี้ โดยประเมินว่าแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิของ KBANK ในปีนี้จะอยู่ที่ราว 4-5%

ส่วนมุมมองราคาหุ้น KBANK ยังมีความน่าสนใจ เพราะราคาได้ปรับตัวลดลงไปมากกว่า 10% อย่างไรก็ตามคงแนะนำเป็นการลงทุนระยะยาวมากกว่า

ด้านนางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ราคาหุ้น KBANK ปรับตัวลดลงไปมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ปีก่อนปรับตัวลดลงไปเฉลี่ยราว 5% แต่ KBANK ปรับตัวลดลงไปมากถึง 12% ทำให้ในแง่ของ Valuation ถือว่าอยู่ในระดับที่ถูก และสามารถเข้าซื้อได้ ซึ่งหากมองในด้านของแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 62 ยังเติบโตได้จากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นสินเชื่อหลักที่ผลักดันการเติบโตของสินเชื่อรวม

ทั้งนี้ สินเชื่อทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นจะได้รับผลบวกจากการเริ่มทยอยลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะมีความชัดเจนของการลงทุนมากขึ้นในปี 62 และการลงทุนของภาคเอกชนที่น่าจะมีเข้ามาต่อเนื่อง ขณะที่สินเชื่อรายย่อยอาจจะได้รับผลกระทบจากการควบคุมของ ธปท.โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามเกณฑ์การกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำหรืออัตราส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ที่จะเริ่มใช้ในเดือนเม.ย.นี้ ทำให้คาดว่าสินเชื่อของ KBANK ในปีนี้จะเติบโตได้ 5-7%

ขณะเดียวกัน KBANK ยังพยายามรักษา NIM ให้อยู่ไนระดับ 3.3-3.5% โดยเน้นไปที่กลุ่มสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมากขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในช่วงที่ผ่านมามองว่าไม่กระทบกับ NIM ของธนาคารมาก เพราะสัดส่วนเงินฝากประจำมีสัดส่วนไม่มาก หรือมีเพียงกว่า 20% เท่านั้น ทำให้ไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนกรณีรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังหดตัวต่อเนื่องนั้น KBANK ก็ได้ผลักดันให้ลูกค้าไปใช้โมบายแบงก์กิ้งมากขึ้น ทำให้ลดต้นทุนและมีโอกาสเสนอขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ผ่านช่องทางมือถือได้

ส่วนระดับ NPL ของ KBANK ที่ตั้งกรอบไว้ที่ 3.3-3.7% นั้นมองว่าไม่มีความน่ากังวล เพราะเป็นระดับที่เริ่มทรงตัว และธนาคารจะหันมาบริหารหนี้เสียเองแทนการขายหนี้ออกไป และการตั้งสำรองฯก็เริ่มมีแนวโน้มที่ไม่สูงมากแล้ว ทำให้ปัจจัยกดดันผลการดำเนินงานมีไม่ค่อยมากเมื่อเทียบกับ 1-2 ปีก่อน โดยที่ประเมินว่ากำไรสุทธิของ KBANK จะเติบโตได้ 4.9% ในปี 62

ด้านนักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่าราคาหุ้น KBANK ปรับตัวลดลงไปมากสะท้อนความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้ราคาหุ้นถือว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจและเป็นจังหวะเข้าซื้อ ซึ่ง KBANK เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่ยังมีทิศทางการขยายตัวของผลการดำเนินงาน โดยจะเป็นการขยายในส่วนของสินเชื่อมากขึ้นเพื่อมาทดแทนรายได้ค่าธรรมเนียมที่ยังหดตัวอยู่ในปี 62 โดยคาดว่าสินเชื่อจะสามารถขยายตัวได้ 8% สูงกว่าที่ธนาคารตั้งเป้าไว้ 5-7% คาดว่าจะมาจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลบวกจากลการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชนที่จะทยอยออกมา ส่วนสินเชื่อรายย่อยคาดว่าจะขยายได้ในบางกลุ่ม เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต ที่ยังมีการจับจ่ายใช้สอยกันอยู่บ้าง แต่สินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจจะได้รับผลกระทบจากการควบคุมตามเกณฑ์ใหม่ของธปท.

ส่วนคุณภาพหนี้ของ KBANK แม้ว่าอาจจะมีความกังวลต่อ NPL แต่ก็เป็นการปรับเพิ่มขึ้นที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งทำให้ NPL อาจจะเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย แต่ถือว่ามีการตั้งสำรองไว้ในระดับที่สูงกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น Coverage ratio ที่ 160% ซึ่งเป็นระดับที่สามารถป้องกันความเสี่ยงที่ไม่แน่นอนของคุณภาพหนี้ที่เข้ามากระทบได้ และในปีนี้ KBANK จะหันมาบริหารหนี้เสียเองมากขึ้น ทำให้ NPL อาจจะไม่เห็นการลดลงมาก

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.25% ต่อปี คาดว่าไม่ส่งผลกระทบต่อ NIM อย่างมีนัยสำคัญ เพราะเงินฝากประจำมีสัดส่วนที่ไม่มากเมื่อเทียบกับสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ แต่ก็จะเป็นการดึงดูดเงินฝากระยะยาวเข้ามา เพื่อเป็นการรองรับต่อการปล่อยสินเชื่อในอนาคต พร้อมประเมินกำไรสุทธิของ KBANK ในปี 62 จะเติบโตได้ 3.1%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ