(เพิ่มเติม) TRUE ยังกั๊กประมูลคลื่น 700 MHz ขอรอดูเงื่อนไข-มาตรการเยียวยา,จับมือจุฬาฯศึกษาพัฒนา 5G

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 30, 2019 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิเชาน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทรู คอร์เปอเรชั่น (TRUE) กล่าวถึงโอกาสในการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ว่า บริษัทยังรอดูหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประมูลก่อน รวมถึงต้องดูถึงโอกาสที่จะมีมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้ใบอนุญาตในคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ด้วยเช่นกัน เพราะจะเป็นส่วนสำคัญที่จะแบ่งเบาภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการทุกราย

วันนี้ TRUE และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการศึกษา วิจัย เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี 5G โดยเอไอเอสทำ 5G Garage Innovation LAB โดยพัฒนาพื้นที่ทดลองทดสอบ 5G ภายใน 5G Garage Innovation LAB ประกอบด้วยข้อมูลเทคโนโลยีเกี่ยวกับ 5G ที่เป็นองค์ความรู้พื้นฐานครบวงจร ตั้งแต่รายละเอียดเกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยี 5G, อุปกรณ์โครงข่าย, อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณ ตลอดจนตัวอย่างรูปแบบการใช้งาน หรือ Use case ที่มาจากความร่วมมือของผู้ผลิตอุปกรณ์ระดับโลก

พร้อมทั้งการ work shop เพื่อพัฒนาความรู้ ความชำนาญในทางเทคนิค รวมไปถึงร่วม Co-Develop บริการต้นแบบบน 5G เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับในประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง โดยคณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากเอไอเอส และ พาร์ทเนอร์ในแวดวงโทรคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ TRUE ทำ True Lab@Chula engineering เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนานวัตกรรม โดยให้ทุนกับ 100 สตาร์ทอัพ ให้นิสิตทดลองพัฒนานวัตกรรมจริงๆ เพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์ โดยนำโจทย์จากภาคเอกชนมาพัฒนา โดยทรูได้เตรียมกองทุนเพื่อจะลงทุนกับแนวคิดของสตาร์ทอัพที่น่าสนใจ โดยนวัตกรรมจะตอบสนองการมาของเทคโนโลยี 5G

นายสุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 5G จะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต คณะฯ ได้เตรียมความพร้อมทั้งในด้านของบุคลากรและการสร้างงานวิจัยพัฒนาที่เกี่ยวช้องกับการให้บริการ 5G เพื่อให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงและทั่วถึง ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นก้าวที่สำคัญที่ภาคการศึกษาไทยจะได้ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเปิดพื้นที่แห่งการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชั่นของผู้ให้บริการในภาคอุตสาหกรรม ความร่วมมือจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อคณาจารย์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงนิสิตนักศึกษาให้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง สามารถทดสอบและทดลองโซลูชั่นด้วยตัวเอง รวมทั้งจะเป็นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกด้วย


แท็ก (TRUE)   จุฬา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ