(เพิ่มเติม) บลจ.กรุงศรี ตั้งเป้า AUM ปีนี้ที่ 5.3 แสนลบ. โตจาก 5 แสนลบ.ปีก่อน, ให้กรอบเป้าหมาย SET ปีนี้ 1,550-1,830 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 6, 2019 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี เปิดเผยถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 62 ว่า บริษัทตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ที่ 5.3 แสนล้านบาท เติบโตจากระดับ 5 แสนล้านบาทในปีก่อน หรือเติบโต 6% โดยแบ่งเป็นกองทุนรวม(Mutual Fund) 4.02 แสนล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) 4.4 หมื่นล้านบาท และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) 8.8 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กองทุนรวมในปีนี้คาดว่าเติบโตเลขสองหลัก ขณะที่กองทุนส่วนบุคคลจะเติบโตน้อยกว่าปีก่อนที่โต 52% เพราะปีนี้มีการไถ่ถอนเงินออกไปออกไปกว่าครึ่งของมูลค่ารวม 1.12 แสนล้านบาท หลังตราสารหนี้ที่ถือครบกำหนด ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังเติบโตตามอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม กองทนรวมมีสัดส่วน 70% ของ AUM ปัจจุบัน บลจ.กรุงศรีมีส่วนแบ่งการตลาด 7.2%ของตลาดกองทุน ใหญ่เป็นอันดับ 5 และในตลาดกองทุน

"ปีที่แล้วเป็นปีที่ยากลำบากของกองทุน หุ้นไทยติดลบ 11% ต่างประเทศก็ติดลบด้วย ครึ่งปีแรกถึงไตรมาส 3 ก็ยังดีแต่ไตรมาส 4 ลงไปมาก กระทบกับการลงทุน คนไม่อยากลงทุนเพิ่ม ภาวะการลงทุนไม่เอื้ออำนวย"

น.ส.ศิริพร กล่าวว่า การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อต้นปีได้เสนอขายกองทุน KFHHCARE และเตรียมเปิดเสนอขายกองทุน KFSUPER และ กองทุน KFSUPERRMF ที่ลงทุนในกองทุนผสม โดยลงทุนตราสารหนี้ 25% และลงทุนหุ้นไม่เกิน 75% จะเปิดขายครั้งแรกพร้อมกันในวันที่ 11-20 มี.ค.62

โดยในปีนี้บริษัทมีแผนที่จะเปิดให้บริการออนไลน์มากขึ้น ได้แก่ การเปิดบัญชีออนไลน์ บริการ Mobile Application และบริการ Robo Advisor ในส่วนของกองทุนรวม เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมให้กับผู้ลงทุนและแนะนำการลงทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการรายบุคคล รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนา Mobile Application ในส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ การเปิดให้บริการออนไลน์ดังกล่าว คาดว่าจะสามารถขยายลูกค้ากลุ่มใหม่ และให้ความสะดวกกับลูกค้าเดิม และส่งมอบประสบการณ์การลงทุนที่ดี โดย Mobile Application คาดจะเปิดให้บริการภายในครึ่งแรกปีนี้

ด้านนางสุภาพร ลีนะบรรจง ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี ให้เป้าหมายกรอบดัชนีหุ้นไทย (SET)ในปี 62 เท่ากับ 1,550 -1,830 จุด ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการเจรจาการค้าสหรัฐกับจีน ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ กับ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะประชุมร่วมกันในวันที่ 27 มี.ค.นี้ และยังมีปัญหาเศรษฐกิจยุโรปชะลอตัว เรื่องอังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป (Brexit) ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐคาดยังเติบโตต่อเนื่อง คาดปีนี้โอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในปลายปีนี้ หรือไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ส่วนภาวะเศรษฐกิจในจีนยังเติบโต คาดขยายตัว 6.2% และญี่ปุ่นเศรษฐกิจดีขึ้นซึ่งจะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10%ในเดือนต.ค.นี้

ขณะเดียวกันก็มีมุมมองว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีแนวโน้มแข็งแกร่งตามรายได้โดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังโครงการลงทุนภาครัฐมีความชัดเจนและมีความคืบหน้าหลายโครงการ การท่องเที่ยวมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนหลังนักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยมากขึ้นที่ปีนี้คาดจะมีนักท่องเที่ยว 41 ล้านคน ในส่วนของการส่งออกยังดีถึงแม้ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

นายศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนตราสารหนี้ บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า มีมุมมองการลงทุนในตราสารหนี้ คาดว่ากองทุนประเภทตลาดเงินและตราสารหนี้ระยะสั้นจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยระยะสั้นที่ทยอยปรับตัวขึ้นภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาวก็มีแนวโน้มจะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มาก โดยปัจจัยที่สำคัญประกอบด้วย อัตราเงินเฟ้อในประเทศที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้มีทิศทางชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยได้รับผลกระทบทั้งด้านการส่งออกตามสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐและจีน และการชะลอตัวในระยะสั้นของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อรอความชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง

ทำให้แนวโน้มนโยบายการเงินของไทยมีท่าทีผ่อนคลายลงและการจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นทำได้ยากกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นตลาดตราสารหนี้อาจมีความผันผวนได้บ้างตามความเคลื่อนไหวของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก

นายวิพุธ เอื้ออานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตราสารทุนระยะกลางถึงยาว แม้ว่าในระยะสั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย อาจมีความผันผวนและมีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามกระแสเงินลงทุนต่างชาติและปัจจัยภายนอกประเทศอยู่บ้าง แต่ตลาดหลักทรัพย์ไทยยังเป็นที่น่าสนใจลงทุนเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ในภูมิภาค โดยตลาดหลักทรัพย์ไทยมีค่า P/E ปี 2562 อยู่ที่ 15.0 เท่า ขณะที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อยู่ที่ 15.5 เท่า และ 16.3 เท่า ตามลำดับ

ทั้งนี้ แนะนำให้จัดสรรการลงทุนในหุ้น 60% ตราสารหนี้ 35% ทางเลือกใหม่ (ทองคำ) 5% คาดว่าจะได้รับผลตอบแทน 7% กลุ่มที่แนะนำลงทุน ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ อาทิ กลุ่มแบงก์ กลุ่มอุปโภคบริโภค กลุ่มเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มท่องเที่ยว

นายจาตุรันต์ สอนไว ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนต่างประเทศ บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า การลงทุนหุ้นในต่างประเทศในปีที่แล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงเฉลี่ย 15% ถือว่าเป็นปีที่ผันผวนมากที่สุดในรอบ 10 ปี ในปีนี้มองว่าความผันผวนจะลดลงจากปีที่แล้ว แม้ว่ามีความไม่แน่นอนอยู่ โดยในปีนี้บริษัทคาดการณ์ว่าดัชนีทั่วโลกจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ค่อนข้างดี ตลาดเกิดใหม่นำโดยจีนจะสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งปีก่อนติดลบ 20% ขณะนี้ก็กลับมาแล้ว

เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเริ่มมีท่าทีคลี่คลาย โดยสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีทรัมป์ ให้ความเห็นว่าการเจรจากับจีนเป็นไปได้ด้วยดีและประกาศเลื่อนเส้นตายการขึ้นภาษีจากวันที่ 1 มีนาคมออกไป ด้านเฟดก็มีท่าทีจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากที่เคยคาดการณ์ว่าจะขึ้น 3 ครั้งในปีนี้ มาเป็น 1 ครั้งหรืออาจไม่ขึ้นเลย เนื่องจากเงินเฟ้อไม่ได้ร้อนแรงและเศรษฐกิจสหรัฐส่อแววถูกผลกระทบจากปัจจัยสงครามการค้า

ความไม่แน่นอนด้านการเมืองยุโรป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นของ Brexit หรือการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอิตาลี (Italexit) หรือเหตุการณ์ไม่สงบในฝรั่งเศส จะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจและฉุดค่าเงินยูโรอ่อนค่าเป็นเหตุให้เงินไหลออกเพื่อไปเข้าภูมิภาคที่มีการเติบโตดีและราคาถูกกว่า จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลดีต่อตลาดที่ปรับตัวลดลงไปค่อนข้างมาก และมี P/E ที่ค่อนข้างถูกจากการปรับตัวในปีที่แล้ว


แท็ก กองทุนรวม   SET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ