NER พุ่ง 3.15% ผู้บริหารเผยกองทุนต่างชาติสนใจขอซื้อหุ้น แต่ยืนยันไม่ขาย พร้อมคาดรายได้ปี 63 โตเท่าตัว

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 13, 2019 11:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น NER ปรับขึ้น 3.15% มาที่ 2.62 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.08 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 260.34 ล้านบาท เมื่อเวลา 11.26 น. โดยราคาหุ้นเปิดตลาดที่ 2.58 บาท ราคาทำระดับสูงสุดที่ 2.66 บาท และต่ำสุดที่ 2.56 บาท

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" โดยคาดว่าสาเหตุที่ราคาหุ้นบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย ปัจจัยแรกคือวันนี้และวันพรุ่งนี้ จะมีนักลงทุนสถาบัน(กองทุน)จากต่างชาติ และบริษัทประกันภัยในประเทศ ขอนัดเข้ามาเยี่ยมชมกิจการและเจรจาซื้อหุ้นเป็นรายการใหญ่ (Big lot) จากกลุ่มครอบครัว "จึงธนสมบูรณ์" ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนถือครองหุ้นราว 61% อย่างไรก็ตามยืนยันว่าไม่มีนโยบายขายหุ้นในส่วนของครอบครัวออก มาแน่นอน ถ้านักลงทุนรายใหญ่มีความสนใจอยากให้เข้าไปซื้อผ่านกระดานตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขณะเดียวกันตนเองก็ได้เข้าไปทยอยเก็บหุ้นบริษัทเพิ่มเติม เพราะมองเห็นถึงอัพไซด์ของผลประกอบการที่กำลังจะเติบโตต่อเนื่อง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รายงานว่า นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ เข้าไปซื้อหุ้น NER เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 จำนวน 200,000 หุ้น ที่ราคา 2.48 บาท/หุ้น ส่งผลให้มีจำนวนหุ้นที่ถือครองหลังทำรายการ 935,867,200 หุ้น จากก่อนหน้านี้ที่มีจำนวนถือหุ้นอยู่ที่ 935,667,200 หุ้น

สำหรับทิศทางผลประกอบการในปี 2563 นั้น นายชูวิทย์ คาดว่าแนวโน้มรายได้รวมจะเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว หรือแตะ 2.5 หมื่นล้านบาท จากปีนี้ที่คาดเติบโต 20% หรืออยู่ที่ 1.35 หมื่นล้านบาท เนื่องจากบริษัทเตรียมเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงงานผลิตยางแห่งใหม่ในปลายไตรมาส 1/62 เฟสแรก กำลังการผลิต 6 หมื่นตัน/ปี ซึ่งล่าสุดมีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้วเต็มจำนวน ทำให้จะเริ่มรับรู้รายได้จากการส่งออกในช่วงไตรมาส 2/62 และในเฟส 2 กำลังการผลิต 1.7 แสนตัน/ปี คาดจะสามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4/62 ส่งผลให้กำลังการผลิตในปี 2563 จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวจากสิ้นปี 2561 ที่มีกำลังการผลิต 2.3 แสนตัน/ปี

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าทิศทางราคายางในตลาดโลกจะเป็นขาขึ้นอย่างน้อยจนถึงปี 2563 เนื่องจากผลสถานการณ์ภัยแล้งได้กระทบผลผลิตยางในประเทศอินเดียและอินโดนีเซีย ขณะที่ไทยก็เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งแล้ว ทำให้ซัพพลายยางในตลาดโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสวนทางกับดีมานด์ที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยสำคัญช่วยเพิ่มศักยภาพทำกำไรบริษัทให้ดีขึ้นชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ