ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ PTTEP ที่ "AAA", หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนที่ "AA" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 13, 2019 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่ระดับ "AAA" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของบริษัทที่ระดับ "AA" ด้วย ทั้งนี้ หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งมีอันดับเครดิตต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของ ปตท.สผ. อยู่ 2 ขั้นสะท้อนถึงลักษณะการด้อยสิทธิและความเสี่ยงที่ผู้ถือตราสารอาจถูกเลื่อนการชำระดอกเบี้ยของตราสารดังกล่าวออกไปได้

อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. สะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนการมีความเสี่ยงด้านการตลาดที่ต่ำเนื่องจากบริษัทมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) รวมทั้งการมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำจากแหล่งปิโตรเลียมเดิมของบริษัท การมีนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง และฐานะการเงินที่มีความแข็งแกร่ง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ปตท.สผ. เป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่สุดในประเทศไทย โดยในปี 2561 ปตท.สผ. ผลิตปิโตรเลียมคิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 359,386 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน (BOED) หรือคิดเป็นประมาณ 32% ของการผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศไทย ในขณะเดียวกันบริษัทยังจำหน่ายก๊าซธรรมชาติคิดเป็นประมาณ 72% ของปริมาณจำหน่ายทั้งหมดของบริษัท ณ สิ้นปี 2561 ปตท.สผ. มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) ทั้งสิ้น 677 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ (MMBOE) โดยประมาณ 70% ของปริมาณสำรองนั้นเป็นก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในอ่าวไทย

ปตท.สผ. เป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งชาติ นอกจากนี้ ปตท. ยังเป็นผู้จำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยและยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 85% ของยอดขายของ ปตท.สผ. ในขณะเดียวกัน ปตท. ก็ถือหุ้น 65.3% ใน ปตท.สผ. ด้วย ทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจของไทย ดังนั้น ปตท.สผ. จึงแทบจะไม่มีมีความเสี่ยงด้านเครดิตจากลูกค้ารายใหญ่เลย

กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. เป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์การเติบโตของ ปตท. ในการแสวงหาแหล่งพลังงานให้แก่ประเทศ โดย ปตท.สผ. รับผิดชอบในการแสวงหาและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการพลังงานของประเทศ

จากการเป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของ ปตท. และของรัฐบาลไทย ปตท.สผ. จึงสามารถเข้าร่วมโครงการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

การชนะการประมูลในแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณเพิ่มความแข็งแกร่งต่อสถานะทางธุรกิจ ปตท.สผ. ชนะการประมูลในแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณในเดือนธันวาคม 2561 โดยการชนะการประมูลในครั้งนี้เพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็นผู้นำให้แก่บริษัท ทั้งนี้ สัญญาแบ่งปันผลผลิตนี้ได้มีการลงนามในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ปตท.สผ. จะมีสัดส่วนการลงทุน 100% ในแหล่งบงกชและ 60% ในแหล่งเอราวัณ ทริสเรทติ้งคาดว่าปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มขึ้นประมาณ 96,000 BOED ในปี 2567 เมื่อแหล่งสำรองปิโตรเลียมทั้ง 2 แห่งทำการผลิตเต็มปี โดยภายในปี 2567 คาดว่า ปตท.สผ. จะผลิตปิโตรเลียมได้เกือบครึ่งของปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยภายหลังจากที่บริษัทได้เข้ามารับผิดชอบดำเนินงานทั้งสองโครงการ

คาดว่าปริมาณสำรองปิโตรเลียมจะเพิ่มขึ้น อายุปริมาณสำรองปิโตรเลียม (Reserves Life) ของ ปตท.สผ. นั้นคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 5 ปี เป็น 7-8 ปีภายในปี 2563 โดยแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณนั้นคาดว่าจะผลิตก๊าซธรรมชาติได้อย่างน้อย 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (MMscfd) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีตามที่กำหนดไว้ในสัญญาแบ่งปันผลผลิต จากเงื่อนไขดังกล่าวนั้นคาดว่าบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมได้ไม่น้อยกว่า 600 MMBOE เมื่อเทียบกับปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ 677 MMBOE ณ สิ้นปี 2561

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการ Mozambique Rovuma Offshore Area 1 นั้นใกล้ที่จะตัดสินใจลงทุนในขั้นสุดท้ายแล้วเนื่องจากโครงการสามารถลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซในปริมาณที่มากกว่า 70% ของกำลังการผลิตในระยะแรกแล้ว สำหรับโครงการอื่น ๆ เช่น Southwest Vietnam ตลอดจน Algeria HBR และอุบล (Contract 4) นั้นจะเพิ่มปริมาณสำรองให้แก่บริษัทได้อีกเมื่อบริษัทตัดสินใจการลงทุนในขั้นสุดท้าย

สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับ ปตท. ช่วยให้กระแสเงินสดมีเสถียรภาพ ปตท.สผ. มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ ปตท. โดยผู้ซื้อจะรับผิดชอบซื้อปริมาณก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำต่อปีตามที่ระบุไว้ในสัญญา ทั้งนี้ สูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นช่วยจำกัดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันให้แก่ ปตท.สผ. ซึ่งช่วยให้ราคาขายก๊าซธรรมชาติค่อนข้างมีเสถียรภาพและช่วยรักษาดุลยภาพให้แก่ราคาขายเฉลี่ยของบริษัท ราคาก๊าซธรรมชาตินี้จะอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตาที่ประมาณ 30%-50% โดยที่สูตรการคำนวณราคายังได้รวมการปรับปรุงค่าความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเอาไว้ด้วย ทั้งนี้ สูตรการคำนวณดังกล่าวจะใช้เวลาในการปรับราคาช้ากว่าราคาน้ำมันเตาประมาณ 3 เดือนถึง 1 ปี

ผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติจะต้องรับประกันการซื้อขั้นต่ำตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหรือชำระในมูลค่าที่เทียบเท่า โดยการจัดทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้บริษัทสามารถจำหน่ายปิโตรเลียมได้ถึงประมาณ 70% ของปริมาณการจำหน่ายปิโตรเลียมของบริษัทในแต่ละปี

ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำ บริษัทได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการรักษาต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำได้แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้น 31% ในปี 2561 แต่ต้นทุนที่เป็นเงินสดทั้งหมดของบริษัทเพิ่มขึ้นเพียง 8% มาอยู่ที่ประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ (BOE) จากประมาณ 14 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ BOE ในปี 2560 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตปิโตรเลียม (Lifting Cost) ยังคงอยู่ในระดับ 4-5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ BOE ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ผลของการควบคุมต้นทุนอย่างระมัดระวังทำให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานของบริษัทนั้นสูงกว่า 70% มาตั้งแต่กลางปี 2557

ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 22% เป็น 5,361 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2561 จาก 4,412 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560 รายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและการที่บริษัทได้ซื้อสัดส่วนการลงทุนเพิ่มอีก 22% ในแหล่งบงกช

กำไรของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการดำเนินงาน) อยู่ที่ 73.9% ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 3,975 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 3,264 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2560 โดยระดับของกำไรดังกล่าวนี้เพียงพอที่จะรองรับภาระหนี้ของบริษัทจำนวน 1,946 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 3,500-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในช่วงปี 2562-2564

สภาพคล่องมีความแข็งแกร่ง โดย ณ สิ้นปี 2561 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 4,001 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 901 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวจำนวน 616 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นวงเงินกู้ที่ธนาคารมีภาระผูกผันจัดหาให้ตามกำหนดเวลา (Committed Credit Line) ในขณะที่บริษัทมีภาระที่ต้องชำระคืนเงินกู้เพียง 413 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแผนสำหรับเงินลงทุนประมาณ 1,840 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562 ดังนั้น เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดและเงินทุนจากการดำเนินงานจึงเพียงพอสำหรับค่าใช่จ่ายฝ่ายทุนและการชำระหนี้ของบริษัท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ในช่วง 60-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในระหว่างปี 2562-2564

ต้นทุนที่เป็นเงินสดทั้งหมดของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 15-16 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลตลอดระยะเวลาประมาณการ และ

ในช่วงปี 2562-2564 บริษัทจะมีค่าใช้จ่ายลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่า ปตท.สผ. จะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางการตลาดที่ท้าทาย การมีสภาพคล่องที่เพียงพอและความสามารถในการปรับแผนค่าใช้จ่ายลงทุนจะช่วยให้บริษัทผ่านพ้นช่วงตกต่ำของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมไปได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง ปัจจัยในเชิงลบที่จะมีผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทอาจเกิดขึ้นหากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือหากบริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการกู้ยืมเพื่อซื้อกิจการขนาดใหญ่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ