ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยกำไรกลุ่มแบงก์ Q1/62 โตจากรายการพิเศษ-ตั้งสำรองฯลดลง มองช่วงที่เหลือของปียังท้าทาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 24, 2019 11:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวมรวมข้อมูลผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (ธ.พ. 10 แห่ง) ในไตรมาส 1/62 โดยพบว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์ 10 แห่งมีกำไรสุทธิรวม 5.51 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/61 และขยับขึ้น 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 เนื่องจากมีการบันทึกรายได้และกำไรพิเศษจากเงินลงทุนที่เกิดขึ้นระหว่างไตรมาส ประกอบกับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเพื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงด้วยเช่นกัน

"รายได้และกำไรพิเศษที่เกิดขึ้นระหว่างไตรมาส ทั้งจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและการรับรู้รายได้จากการขายสินทรัพย์ สามารถชดเชยจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ และลดทอนแรงฉุดจากผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

อย่างไรก็ดี หากไม่นับรวมรายได้และกำไรจากเงินลงทุนที่เป็นรายการพิเศษดังกล่าว จะพบว่ายังมีหลายประเด็นที่เป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่รออยู่ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี อาทิ การหารายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่นๆ มาทดแทนรายได้ที่หายไปจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล การประคองอัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ และการดูแลปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจในภาพรวมยังเผชิญโจทย์ท้าทายในการฟื้นตัวด้วยเช่นเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เมื่อหักผลของรายการพิเศษเพื่อประเมินภาพที่แท้จริงของผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1/62 พบว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนหักภาษีเงินได้ไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 6.57 หมื่นล้านบาท เทียบกับ 7.39 หมื่นล้านบาทตามที่ปรากฎในงบการเงิน ทั้งนี้ แม้จะยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/61 แต่ก็เป็นระดับที่ลดต่ำลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 ซึ่งอยู่ที่ 6.89 หมื่นล้านบาท เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง 13.7% YoY

และเป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ยังคงสามารถประคองตัวอยู่ที่ระดับ 3.2% ในไตรมาส 1/62 แต่หากปรับผลของรายการพิเศษออกไปแล้วจะพบว่า NIM กลับชะลอลงมาอยู่ที่ 3.13% ซึ่งสูงกว่าไตรมาส 1/61 ที่ 3.08% เพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ ทิศทางที่ดีขึ้นของกำไรจากการดำเนินการยังเป็นผลมาจากการลดลงของการบริหารจัดการด้านต้นทุน และการปรับตัวลงของค่าใช้จ่ายในการกันสำรองเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญด้วยเช่นกัน

เมื่อมองไปข้างหน้า แม้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะมีแนวทาง/วิธีในการรับมือกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวที่แตกต่างกัน แต่การประคองความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ (Core Business) ยังคงเป็นความท้าทายที่รออยู่ในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี 62 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยังต้องรอสัญญาณการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เงื่อนไขสำคัญๆ ที่มีผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้า ได้แก่ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ โดยเฉพาะในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ ยังอาจเผชิญข้อจำกัดในการเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรายได้สุทธิจากธุรกิจประกัน ยังคงฟื้นตัวในกรอบที่จำกัดในช่วงระหว่างการปรับตัวรับเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่นๆ ยังไม่สามารถเติบโตขึ้นมาเท่าทันพอที่จะช่วยชดเชยผลกระทบจากการยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลได้

การเติบโตของสินเชื่อในภาพรวม ยังคงต้องรอบรรยากาศการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งทำให้ในเบื้องต้นแม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประเมินอัตราการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 62 ที่ประมาณ 5.0% ตามเดิม แต่จะติดตามสถานการณ์การเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงทิศทางของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มีสัดส่วนถึงประมาณ 50% ในพอร์ตสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์) ซึ่งอาจเติบโตในกรอบที่จำกัดลง หลังจากที่มีการเร่งตัวขึ้นไปค่อนข้างแล้วตามภาพรวมกิจกรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงไตรมาส 1/62 เพื่อเลี่ยงช่วงเวลาการบังคับใช้เกณฑ์การกำหนดการวางเงินดาวน์สำหรับการซื้อบ้าน (มาตรการ LTV ใหม่) ของธปท. ที่เริ่มมีผลบังคับแล้วตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. 62 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ จังหวะการขยายตัวของสินเชื่อหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อ SMEs มีประเด็นที่อาจต้องติดตามเพิ่มขึ้น ก็คือ การขยายพอร์ตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งเป็นเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะต้องเติบโตต่อเนื่องและเร็วเพียงพอภายใต้กลยุทธ์ที่ไม่เน้นการแข่งขันด้านราคา ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะช่วยประคองให้อัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ (Yield on Loans) และอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) สามารถทรงตัวหรือมีโอกาสขยับสูงขึ้นได้ในไตรมาสที่เหลือของปี

การบริหารจัดการปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงเป็นโจทย์ยากภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจที่ยังมีจังหวะการฟื้นตัวที่ไม่ต่อเนื่อง ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์กำลังซื้อของภาคครัวเรือน และราคาพลังงานในตลาดโลกที่อาจทรงตัวในระดับสูง อาจมีผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และทำให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องเพิ่มการดูแลคุณภาพของสินทรัพย์ในพอร์ตอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว อาจทำให้รายการค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงช้ากว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลงบการเงินของธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง พบว่า ยอดคงค้างเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ยังคงมีทิศทางขยับขึ้นในไตรมาส 1/62 มาอยู่ที่ 4.449 แสนล้านบาท สูงกว่ายอดคงค้าง NPLs ที่ 4.375 แสนล้านบาทในไตรมาส 4/61 และยอดคงค้าง NPLs ที่ 4.37 แสนล้านบาทในไตรมาส 1/61 ขณะที่ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจะมีการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูงแล้วในขณะนี้ แต่ประเด็นสำคัญจะอยู่ที่ว่าหากปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ก็อาจมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องกลับมาดำเนินนโยบายการตั้งสำรองฯ ด้วยความระมัดระวังมากขึ้นในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ