TOP คาดค่าการกลั่น Q2/62 ดีกว่า Q1/62 เข้าช่วงฤดูขับขี่-ปิดซ่อมบำรุงในตปท. แต่สเปรดปิโตรฯอ่อนลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday May 10, 2019 13:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) คาดว่า ค่าการกลั่น (GRM) ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันในช่วงไตรมาส 2/62 จะดีกว่าระดับ 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 1/62 หลังเข้าสู่ช่วงฤดูการขับขี่ (driving season) และการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นหลายแห่งในสหรัฐและยุโรป แต่ส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์พาราไซลีน (PX) มีทิศทางอ่อนลง จากที่เริ่มมีกำลังการผลิตใหม่ในตลาดโลกราว 1 ล้านตัน/ปี เริ่มทยอยเข้ามาในช่วงนี้

ขณะนี้สถานการณ์ค่าการกลั่นเริ่มดีขึ้นจากปลายไตรมาสแรก จากทั้งความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันเบนซินที่ขยับขึ้นตามช่วงฤดูการขับขี่ ทำให้ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดิบ อยู่ที่ราว 6-8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากช่วงต้นปีที่อยู่ราว 3-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน ยังทรงตัวอยู่ที่ราว 12-13 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

อย่างไรก็ตามในส่วนของครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าส่วนต่างของน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน น่าจะดีขึ้นจากที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรต้องใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกินกว่า 0.5% จาก 3.5% ในปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ซึ่งน่าจะทำให้มีการใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาเป็นส่วนผสมในน้ำมันเตาเพื่อลดค่ากำมะถันลง ส่วนความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน ยังขึ้นกับทิศทางของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ บริษัทยังคงประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปีนี้ราว 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยยังต้องติดตามปัจจัยจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่อาจจะกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันตลาดโลก แต่การที่สหรัฐใช้มาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่าน ก็จะทำให้ปริมาณน้ำมันจากอิหร่านออกมาน้อยลงทำให้ปริมาณน้ำมันในภาพรวมลดลงด้วย

นายอธิคม กล่าวอีกว่า สำหรับกำลังการกลั่นน้ำมันในช่วงไตรมาส 2/62 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรก เนื่องจากจะมีหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นราว 1 เดือน ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิ.ย.-กลางเดือนก.ค.

TOP แจ้งผลประกอบการในไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 4,408 ล้านบาท ลดลงจากกำไรสุทธิ 5,608 ล้านบาทในไตรมาส 1/61 จากกำไรขั้นต้นของการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ลดลง โดยมี GIM ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกอยู่ที่ 5.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 8.2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในงวดปีก่อน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากส่วนต่างราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับลดลง โดยเฉพาะส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินที่ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากภาวะอุปทานล้นตลาด รวมถึงส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกับ น้ำมันเตาที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากจากอุปทานในเอเชียที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ส่วนต่างราคาสารพาราไซลีนกับน้ำมันเบนซิน 95 จะปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสิ้นไตรมาส ทำให้เมื่อรวมผลกระทบจากสต็อก บริษัทจะมี GIM อยู่ที่ 7.9 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 8.6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยโรงกลั่นไทยออยล์มีกำไรจากสต็อกน้ำมันและการกลับรายการปรับลดมูลค่าทางบัญชีของสินค้า คงเหลือน้ำมันให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับเพิ่มขึ้น 2,092 ล้านบาท และ 1,424 ล้านบาทตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ