KTC รุกขยาย 3 ธุรกิจใหม่ ขยายกลุ่มลูกค้า-ฐานรายได้ใหม่ เพิ่มทางเลือกลดหนี้นอกระบบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 5, 2019 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส-คอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรุกขยาย 3 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน โดยบริษัทคาดหมายว่าภายในไตรมาส 3/62 จะสามารถเปิดให้บริการปล่อยสินเชื่อได้

สำหรับการรุกทำธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่ที่ต่างจากเดิม จะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตัวของสินเชื่อในอนาคต ทั้งจากฐานลูกค้าและวงเงินที่ต่างจากสินเชื่อเดิม ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคาดหวังว่าจะเป็นหัวหอกในการขยายฐานรายได้ใหม่ (New S-curve) ให้กับบริษัทเพิ่มเติมจากการทำธุรกิจหลักกับบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลต่อไป

ทั้งนี้บริษัทจะคงมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาพอร์ตลูกหนี้โดยรวมให้มีคุณภาพที่ดีโดยจะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในอัตราที่ต่ำ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคที่ขอสินเชื่อและเพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระหนี้ครัวเรือนให้กับภาครัฐและภาคสังคมโดยรวม

นายชุติเดช กล่าวว่า หนี้นอกระบบเกิดขึ้นจากการที่บุคคลขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงมีความจำเป็นต้องหนีไปพึ่งพาเจ้าหนี้บุคคลนอกระบบซึ่งคิดดอกเบี้ยสูงเป็นรายวันหรือรายเดือน นอกจากนี้หากลูกหนี้ไม่มีเงินชำระหนี้เจ้าหนี้ก็อาจใช้วิธีการตามทวงที่รุนแรง ซึ่งต่างจากหนี้ในระบบที่เกิดจากการปล่อยสินเชื่อของผู้ประกอบการหรือนิติบุคคลซึ่งดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมและตรวจสอบได้ ภายใต้กรอบการกำกับที่ชัดเจนขององค์กรกลาง และยังมีสิทธิพิเศษที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ขอสินเชื่อ

ทั้งนี้ ทางภาครัฐเองได้ตระหนักถึงความรุนแรงและความเสี่ยงของปัญหาหนี้นอกระบบ จึงได้หามาตรการดึงลูกหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบถูกต้องโดยได้ออกสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับหรือนาโน ไฟแนนซ์ (Nano Finance) เพื่อให้บุคคลธรรมดาที่มีรายได้น้อยหรือเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่ไม่มีเอกสาร แสดงแหล่งที่มาของรายได้อย่างชัดเจน และไม่มีสินทรัพย์เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินหรือไม่เคยมีข้อมูลสามารถแสดง ประวัติในการชำระหนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยถูก เพื่อนำเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพ โดยนาโนไฟแนนซ์มีวงเงิน สินเชื่อสูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมกันสูงสุดไม่เกิน 36% ต่อปี (อัตราราดอกเบี้ยลดต้นลดดอก Effective Rate) โดยเมื่อสิ้นเดือนมี.ค. 62 มีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้น 33 ราย จำนวนบัญชีที่ได้รับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ทั้งสิ้นเท่ากับ 1.91 ล้านบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้าง ทั้งสิ้น 3.06 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ภาครัฐยังได้ออกสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับหรือพิโกไฟแนนซ์ (Pico Finance) ซึ่งเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ให้กับบุคคลธรรมดากู้ยืมไปใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ชำระค่าเทอม ค่ารักษาพยาบาล ใช้คืนเงินกู้นอกระบบ หรือนำไปลงทุนในกิจการเล็กๆ โดยผู้ขอสินเชื่อจะมีทรัพย์สินหรือไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันก็ได้ แต่ต้องมีทะเบียนบ้านหรือมีที่อยู่อาศัยปัจจุบันหรือทำงานในจังหวัดที่มีสำนักงานใหญ่ของผู้ให้กู้ตั้งอยู่ โดยล่าสุดตามประกาศกระทรวงการคลังลงวันที่ 9 เม.ย. 62 มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ โดยให้กู้ยืมเงินได้โดยมีวงเงินรวมสินเชื่อไม่เกิน 100,000 บาท/ราย และกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าปรับค่าบริการหรือค่าธรรมเนียม อื่นๆ รวมแล้วไม่เกินอัตรา 36% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก Effective Rate)

สำหรับการปล่อยกู้วงเงิน 50,000 บาทแรก และวงเงินส่วนที่เกิน 50,000 บาท จะคิดอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ ค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ รวมแล้วไม่เกินอัตรา 28% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกเบี้ย Effective Rate) นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ผู้ประกอบ ธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถรับสมุดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นหลักประกันโดยสิ้นเดือนมี.ค. 62 มีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์แล้ว 443 ราย ใน 64 จังหวัด โดยมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมเท่ากับ 76,787 บัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 599.56 ล้านบาท

"การช่วยเหลือด้านสินเชื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ลดลง เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณหนี้ที่เกิดจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว"นายชุติเดช กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ