FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เหตุสงครามการค้าฉุดแต่มีความหวังตั้งรบ.ใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 5, 2019 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน มิ.ย.62 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงต่อเนื่องอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) เป็นเดือนที่สาม โดยผลสำรวจพบว่าปัจจัยต่างประเทศจากสถานการณ์ข้อพิพาททางการค้าเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ขณะที่คาดหวังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และนโยบายภาครัฐ เป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน"

ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ส.ค.62) อยู่ในเกณฑ์ "ทรงตัว" (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 - 119) โดยลดลง 16.56% มาอยู่ที่ระดับ 87.20

ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทรงตัวอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish) ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลลดลงมาอยู่ใน Zone ซบเซา (Bearish) ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ อยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral) เช่นเดิม

ทั้งนี้ หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดธนาคาร (BANK) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA)

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ทางการเมือง และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

"ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงโดยอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวเป็นเดือนที่สาม โดยกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากเกณฑ์ร้อนแรงมาอยู่ที่เกณฑ์ซบเซา กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลลดลงจากเกณฑ์ทรงตัวมาอยู่ที่เกณฑ์ซบเซา ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศลดลงเล็กน้อยอยู่ที่เกณฑ์ทรงตัวเช่นเดิม"

ในช่วงเดือน พ.ค.ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เคลื่อนไหวลดลงจากระดับสูงสุดของเดือนที่ 1,682 จุด ในช่วงต้นเดือน และทยอยลดลงต่อเนื่องมาระดับต่ำสุดที่ 1,604 จุดในช่วงกลางเดือน จากนั้นดัชนีฯปรับฟื้นตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวในช่วง 1,620-1,630 จุด โดยทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดเป็นปัจจัยจากต่างประเทศจากความกังวลการเจรจาสงครามทางการค้าที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและขยายสู่อุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐและจีน รองลงมาคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพิจารณางบประมาณภาครัฐปี 63 ล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนบางส่วนมองว่าสถานการณ์การเมืองและนโยบายภาครัฐที่ต่อเนื่องภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นการลงทุนมากที่สุด โดยการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศหนุนความเชื่อมั่นในลำดับรองลงมา สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ ความคืบหน้าข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนเพื่อรองรับสงครามทางการค้าและเทคโนโลยี ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ความเสี่ยงและ ทิศทาง BREXIT ภายหลังการลาออกของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เทเรซ่า เมย์ แนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงนโยบายของกลุ่มอียูภายหลังการเลือกตังรัฐสภายุโรป นโยบายของภาครัฐของรัฐบาลชุดใหม่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศและการส่งออก ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม

สำหรับดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน มิ.ย.62 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.75% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 12 สัปดาห์ข้างหน้านับจากวันที่ทำการสำรวจ (17 พ.ค. 62) อันเป็นผลมาจากความกังวลจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือน มิ.ย.62 ว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนมิถุนายนนี้ อยู่ที่ระดับ 50 ลดลงจากครั้งที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)" สะท้อนมุมมองของตลาดที่เพิ่มขึ้นว่าการประชุม กนง. ในเดือน มิ.ย.นี้มีโอกาสที่จะคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อไป โดยยังคงให้น้ำหนักกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดโลก และอัตราเงินเฟ้อ เช่นเดิม

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี ในรอบการประชุม กนง. เดือน ส.ค.62 (ประมาณ 12 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 36 ลดลงอย่างมากจากครั้งที่แล้ว และย้ายมาอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)" จากระดับ 2.10% ณ วันที่ทำการสำรวจ (17 พ.ค. 62) เช่นเดียวกันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ที่ดัชนีคาดการณ์ลดลงค่อนข้างมากจากครั้งที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 31 และมาอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)" จากระดับ 2.54% ณ วันที่ทำการสำรวจ (17 พ.ค. 62) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก และ Fund flow จากต่างชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ