BTS คาดเจรจาสัมปทานใหม่รถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม ม.44 จบในต้นก.ย.นี้ - สัปดาห์หน้าคกก.คัดเลือกสนามบินอู่ตะเภาเดินหน้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 20, 2019 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นบริษัทย่อย BTS เปิดเผยว่า จากที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือใช้ ม.44 ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้า จัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ขณะนี้ทราบว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการที่จะมาเจรจากับ บีทีเอสซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งจะต้องเจรจาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ และเมื่อได้ข้อยุติแล้วให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไข

ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจาน่าจะจบได้ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้พร้อมลงนามในสัญญาสัมปทานใหม่ โดยเป็นไปตามกรอบเวลาที่ ม.44 กำหนดให้คณะกรรมการ ดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง และเมื่อได้ข้อยุติแล้วให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตาม ม.44 ประเด็นหลักให้มีการปรับค่าโดยสารตลอดสายสีเขียวไม่เกิน 65 บาท/เที่ยว ที่รวมทั้งส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง -สมุทรปราการ และช่วงหมอชิด-สะพานใหม่-คูคต จากปัจจุบันบริษัทมีการเก็บค่าโดยสาร 16-46 บาท/เที่ยว และรวมส่วนต่อขยายช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า 15 บาท/เที่ยว และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง 15 บาท/เที่ยว โดยเส้นทางหลักตามสัญญาสัปทาน มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 29 บาท/เที่ยว

"ค่าโดยสารปรับลง ทำให้รายได้เราลดลง น่าจะมีอะไรมาแลก ซึ่งต้องคุยกันก่อน คาดว่าในสัปดาห์หน้า คณะกรรมการ จะนำข้อเสนอมายังบีทีเอส" นายสุรพงษ์ กล่าว

ปัจจุบันมีผู้โดยสารเฉลี่ย 7.7 แสนเที่ยว/วัน โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารขึ้นไปสูงสุดที่ 9.7 แสนเที่ยว/วัน โดยปีนี้คาดว่าจำนวนผู้โดยสารเติบโต 4-5% จากปีก่อนไม่มีการเติบโต

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสีชมพู ในส่วนต่อขยายของทั้งสองเส้นทาง ขณะนี้ได้เจรจากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)แล้ว โดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ประมาณ 9-10% คาดว่าจะนำเข้าเสนอคณะกรรมการรฟม.ในครั้งต่อไป

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกผู้ชนะโครงการ โดยในส่วนของบริษัทก็มีความหวังจะได้งานโครงการนี้ โดยบริษัทได้ยื่นในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)

ด้านนายสุรยุทธ ทวีกุลวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่สายการเงิน BTS กล่าวว่า จากที่ BTS ตัดขายหุ้นบมจ.วีจีไอ โกลบอล มีเดีย(VGI)วานนี้นั้น บริษัทมีรายได้จากการขายครั้งนี้ 5.8 พันล้านบาท แต่ไม่ได้บันทึกเป็นกำไร เพราะ VGI เป็นบริษัทย่อยของ BTS ไม่ได้มีการจ่ายเงินจริง โดยจะนำไปเป็นเพิ่มในส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งจะทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มสูงขึ้น

ในวันนี้ บริษัท ชาร์ป ไทย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ และ VGI ลงนามความร่วมมือติดตั้งเทคโนโลยี Plasmacluster สู่รถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยจะติดตั้งแล้วเสร็จบนรถไฟฟ้า 2 ขบวน ภายในเดือนนี้ นอกจากนี้ VGI ยังพิจารณาร่วมมือนำเข้านวัตกรรมป้ายดิจิทัลที่มีความละเอียดสูง จาก Sharp มาใช้สำหรับสื่อโฆษณาของ VGI ในขณะที่ Sharp ยังมีแผนพิจารณาใช้งบประมาณการตลาดบนสื่อโฆษณาต่าง ๆ ของ VGI ในอนาคต

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การติดตั้ง เทคโนโลยี Plasmacluster เพื่อกรองอากาศภายในรถไฟฟ้า ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และกำจัดกลิ่น เริ่มต้นติดตั้ง 2 ตู้ ระยะเวลา 3 เดือนก่อนที่จะขยายติดตั้ง 2 ขบวน วิเคราะห์ผลการติดตั้งภายใน 1 ปี จึงจะตัดสินใจว่าจะติดตั้งภายในรถไฟฟ้า และงบลงทุนด้วย ปัจจุบัน บีทีเอส มีรถไฟฟ้าที่ใช้เดินรถในปัจจุบัน 52 ขบวน และภายในปีนี้จะเพิ่มเข้ามา 46 ขบวน รวมเป็น 98 ขบวนในสิ้นปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ