ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร JMART ที่ระดับ "BBB" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 21, 2019 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. เจมาร์ท (JMART) ที่ระดับ "BBB" โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลประกอบการที่แข็งแกร่งในธุรกิจจัดเก็บหนี้และซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารรวมถึงสถานะทางการแข่งขันที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ในขณะที่การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณารวมไปถึงการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตลอดจนภาระหนี้ที่สูง และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจให้เช่าพื้นที่ของบริษัทอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

มีสถานะความเสี่ยงทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลาง

สถานะความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับปานกลางโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากธุรกิจบริหารหนี้สินหรือหนี้ด้อยคุณภาพที่มีผลกำไรดีและการมีสถานะทางการแข่งขันที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ แม้ว่าบริษัทจะมีความพยายามในการขยายธุรกิจให้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ และธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup)1 เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน แต่ธุรกิจเหล่านี้ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จ

หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของบริษัทคือความพยายามในการขยายประโยชน์จากความร่วมมือกันภายในกลุ่มโดยผ่านการผสานประโยชน์ระหว่างธุรกิจให้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น บริษัทจะให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลโดยใช้เทคโนโลยีทางการเงินที่บริษัทพัฒนาขึ้น พร้อมทั้งใช้ประสบการณ์ในการบริหารและจัดเก็บหนี้ของบริษัทเข้ามาช่วย หรือการที่บริษัทจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่าน บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ที่เป็นบริษัทร่วม เป็นต้น หากการดำเนินกลยุทธ์ความร่วมมือกันภายในกลุ่มดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จก็จะช่วยส่งเสริมให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจบริหารหนี้สินช่วยสนับสนุนผลการการดำเนินงานโดยรวมของกลุ่ม

ธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินภายใต้การดำเนินงานของ บมจ. เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งที่สุดและสร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่กลุ่มเจมาร์ท

ผลประกอบการที่แข็งแกร่งของ บริษัท เจเอ็มที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ช่วยสนับสนุนผลประกอบการโดยรวมของบริษัท โดยในปี 2561 บริษัทเจเอ็มทีฯ เป็นบริษัทลูกเพียงรายเดียวที่มีผลกำไร โดยผลกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 480 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มเจมาร์ทมีผลขาดทุน 105 ล้านบาทในปีเดียวกัน

ผลการดำเนินงานของบริษัทเจเอ็มทีฯ มีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากอัตรากำไรที่สูงในธุรกิจการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพหรือหนี้เสียซึ่งได้แก่สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มาบริหาร ธุรกิจนี้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดย ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทมีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้คงค้างอยู่ที่ 5,924 ล้านบาท จากข้อมูลในช่วงปี 2549-2561 บริษัทเจเอ็มทีฯ ซื้อหนี้เสียในอัตราลดราคาโดยเฉลี่ยที่ 94.0% ในขณะที่ผลสำเร็จในการจัดเก็บเงินกู้ต่อเงินลงทุนที่ซื้อสะสมอยู่ที่ระดับ 94.0%0

ในช่วงปี 2562-2564 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทเจเอ็มทีฯ จะอยู่ที่ 2,000-2,200 ล้านบาทต่อปี และจะมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 40%-50% ซึ่งสมมติฐานดังกล่าวอยู่บนความคาดหมายที่ว่าธุรกิจการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารจะมีการเติบโตและบริษัทจะยังคงประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินต่อไป

ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ชะลอตัว

ผลประกอบการในธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ดำเนินการโดย บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด ชะลอตัวลงอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรม ในปี 2561 ยอดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และสินค้าที่เกี่ยวข้อง (รวมรายได้จากกิจกรรมส่งเสริมการขาย) ของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ลดลง 13% จากปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 9,203 ล้านบาท ในขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2562 บริษัทยังคงมีรายได้ลดลง 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 1,874 ล้านบาท

1. ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) คือการเริ่มต้นธุรกิจเพื่อการเติบโตแบบก้าวกระโดดซึ่งมีวิธีสร้างรายได้ที่สามารถหาเงินแบบทำซ้ำและขยายได้ง่าย ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันหรือเห็นโอกาสที่ยังไม่มีใครเห็น เช่น แอพพลิเคชั่นเรียกร้องสินไหมประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วยตัวเอง แอพพลิเคชั่นรวมที่จอดรถ เป็นต้น (ที่มา: MThai)

จากผลประกอบการที่ขาดทุนจำนวน 110 ล้านบาทในปี 2561 ทำให้บริษัทเจมาร์ท โมบาย มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นในด้านประสิทธิภาพและผลกำไรให้มากขึ้นโดยมีการปิดร้านสาขาที่ไม่ทำกำไรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการควบคุมต้นทุน นอกจากนี้บริษัทยังบริหารสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงจากสินค้าล้าสมัยด้วย โดยบริษัทมีนโยบายลดมูลค่าสินค้าคงคลังลงให้เหลือไม่เกิน 1,000 ล้านบาทในปี 2562 เทียบกับมูลค่าสินค้าคงคลังในปี 2561 ที่ระดับ 1,328 ล้านบาท และในปี 2560 ที่ระดับ 2,006 ล้านบาท

ในช่วงปี 2562-2564 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทเจมาร์ท โมบาย ซึ่งรวมรายได้จากการจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมอุปกรณ์เสริมและรายได้จากการส่งเสริมการขายจะอยู่ที่ระดับ 7,900-8,700 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่แรงกดดันจากการแข่งขันและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้คาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 11%-16% ในช่วงเวลาดังกล่าว

ความเสี่ยงในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มสูงขึ้น

บริษัทดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่าน บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ซึ่งมีผลการดำเนินงานขาดทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอันเนื่องมาจากได้สำรองหนี้เสียจำนวนมากจากพอร์ตลูกหนี้ที่เติบโตอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2559 ยอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทเจ ฟินเทค เติบโตขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3,901 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562 จาก 2,209 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 โดยส่วนมากอยู่ในรูปแบบของเงินหมุนเวียนสำหรับการอุปโภคและบริโภค

ณ เดือนมีนาคม 2562 บริษัทเจ ฟินเทค มีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือ 5.7% เทียบกับ 8.1% ณ สิ้นปี 2560 และ 7.0 ณ สิ้นปี 2561 โดยสัดส่วนที่ลดลงดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นเป็นสำคัญ ในไตรมาสแรกของปี 2562 บริษัทได้ตั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่จำนวน 268 ล้านบาท ซึ่งลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในงบการเงินรวมของบริษัทเจมาร์ท ในมุมมองของทริสเรทติ้งพิจารณาว่ากระบวนการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวแม้จะมีทิศทางที่ดีขึ้นแต่ก็ยังไม่รัดกุมพอ โดยอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้นและบริษัทจะมีภาระในการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นหากสินเชื่อมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ของบริษัทเจ ฟินเทค อยู่ในเกณฑ์ดี โดยอยู่ที่ระดับ 131% ณ เดือนมีนาคม 2562 และเนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีฐานรายได้ต่ำ บริษัทจึงควรตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับที่สูงเพื่อให้เพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้

ในช่วงปี 2562-2564 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัท เจ ฟินเทค จะอยู่ที่ 800-900 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมจะอยู่ที่ระดับ 7%-8% และพอร์ตลูกหนี้จะอยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว

ธุรกิจของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท ยังต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์

บมจ. เจเอเอส แอสเซ็ท (J) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเจมาร์ท เป็นผู้ดำเนินธุรกิจให้เช่าพื้น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และธุรกิจร้านกาแฟ พื้นที่ให้เช่าส่วนใหญ่ของบริษัทอยู่ในศูนย์การค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ โดยเปิดให้ลูกค้ารายย่อยขนาดเล็กเช่าพื้นที่ต่อเพื่อจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พื้นที่ให้เช่าดังกล่าวอยู่ภายใต้ชื่อแบรนด์ "IT Junction" ซึ่งมีสาขาจำนวน 46 แห่งทั่วประเทศ ด้วยพื้นที่ให้เช่ารวมทั้งสิ้น 9,308 ตารางเมตร (ตร.ม.) และมีอัตราการเช่าโดยเฉลี่ยที่ระดับ 85.0% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2562

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงทุนในการก่อสร้างและบริหารพื้นที่ให้เช่าในศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) อีก 3 แห่งในเขตกรุงเทพฯ อีกด้วย โดยพื้นที่ให้เช่ารวมของทั้ง 3 โครงการมีขนาดทั้งสิ้นประมาณ 35,500 ตร.ม. และอยู่ภายใต้แบรนด์ "JAS Urban" ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีอัตราการเช่าแล้วโดยเฉลี่ยที่ระดับ 90.0% ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2562 บริษัทยังได้ขยายไปยังธุรกิจอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ โครงการคอนโดมิเนียมภายใต้แบรนด์ "New Era" และการบริหารธุรกิจร้านอาหารและกาแฟ "Casa Lapin" รวมถึงร้านกาแฟ "Rabb Coffee"

ธุรกิจดังกล่าวสร้างรายได้ค่อนข้างน้อยเพียง 5%-6% ของรายได้รวมของกลุ่มเจมาร์ทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่สัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นในระยะ 2 ปีข้างหน้าจากการรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียม และการเปิดศูนย์การค้าชุมชนแห่งใหม่ในพื้นที่อมตะนคร รวมทั้งการขยายสาขาในธุรกิจร้านกาแฟ

ในช่วงปี 2562-2564 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จะอยู่ที่ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 15%-19% ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขายคอนโดมิเนียมที่มีอัตรากำไรขั้นต้นในระดับสูง ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกดดันผลกำไรของบริษัท คือการแข่งขันทางด้านราคาของธุรกิจให้เช่าพื้นที่ รวมถึงการโอนคอนโดมิเนียมที่อาจชะลอตัวจากปัจจัยทางภาวะเศรษฐกิจและมาตรการจาก ธปท. เกี่ยวกับสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดขึ้น หากบริษัทเจเอเอส แอสเซ็ท สามารถบรรลุเป้าหมายการขยายธุรกิจได้ บริษัทก็จะสร้างรายได้จำนวนที่มากขึ้นให้แก่กลุ่มบริษัทได้ในอนาคต ในทางตรงกันข้าม หากแผนการขยายธุรกิจเป็นไปในเชิงรุกมากเกินไปก็อาจจะสร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้

ผลประกอบการเริ่มเปลี่ยนมามีกำไร

ในช่วงปี 2562-2564 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทเจมาร์ทจะมีรายได้รวม 12,000-13,000 ล้านบาทต่อปี โดยส่วนใหญ่จะมาจากรายได้จากธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ปรับปรุงแล้วซึ่งรวมการตัดจำหน่ายเงินลงทุนในหนี้ด้อยคุณภาพของบริษัท เจเอ็มทีฯ อยู่ที่ 3,100-3,900 ล้านบาทต่อปีในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทเจเอ็มทีฯ

ทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทเจมาร์ทจะมีกำไรสุทธิเป็นบวกในปีนี้หลังจากที่มีผลขาดทุนสุทธิจำนวน 105 ล้านบาทในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการควบคุมต้นทุนและการตัดจำหน่ายสินค้าที่ล้าสมัยลดลงในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์มือถือ ส่วนในธุรกิจให้สินเชื่อส่วนบุคคลนั้น กระบวนการอนุมัติสินเชื่อที่มีมาตรการเข้มงวดยิ่งขึ้นจะช่วยยกระดับคุณภาพสินทรัพย์และช่วยลดภาระในการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับหนี้สูญ การนำมาตรการที่มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพสินทรัพย์และการควบคุมต้นทุนยังจะถูกนำไปใช้กับธุรกิจเช่าซื้อที่บริหารงานโดยบริษัทซิงเกอร์ ประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ บริษัทเจมาร์ท ถือหุ้นในบริษัทซิงเกอร์ฯ ในสัดส่วน 30.3% และรับรู้ส่วนแบ่งกำไร/ขาดทุนจากเงินลงทุน สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ผลกำไรจะมาจากการรับรู้รายได้จากการโอนห้องชุดในคอนโดมิเนียมให้แก่ลูกค้า ซึ่งสัญญาณการฟื้นตัวเริ่มปรากฏให้เห็นได้จากการที่บริษัทเจมาร์ท รายงานกำไรสุทธิจำนวน 179 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2562

ภาระหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง

ภาระหนี้ของบริษัทเจมาร์ท ปรับตัวสูงขึ้นจากแผนการขยายธุรกิจผ่านบริษัทลูกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ณ เดือนมีนาคม 2562 เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11,991 ล้านบาทจาก 8,401 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องเนื่องจากบริษัทลูกทั้ง 3 รายคือ บริษัทเจเอ็มทีฯ บริษัทเจ ฟินเทค และบริษั เจเอเอส แอสเซ็ท กำลังอยู่ในช่วงของการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโต ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ 600-1,000 ล้านบาทต่อปีและเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารจะอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564

ในช่วงปี 2561-2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 3.5-4.5 เท่า และจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 2-3 เท่า ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าแผนการลงทุนของบริษัทจะไม่ทำให้บริษัทต้องกู้เงินเพิ่มเติมจำนวนมากเพื่อขยายธุรกิจ

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเจมาร์ท อยู่ที่ 5.4 เท่าในปี 2561 และ 6 เท่า (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในไตรมาสแรกของปี 2562 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 2.6 ในปี 2561 และ 2.4 เท่าในไตรมาสแรกของปี 2562

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยแหล่งสภาพคล่องส่วนใหญ่จะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงานจำนวน 2,700-3,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 1,400 ล้านบาท ณ เดือนมีนาคม 2562 ในขณะที่บริษัทจะมีภาระการลงทุนประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปีบวกกับเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังจะมีหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นที่จะต้องกู้เงินใหม่มาทดแทน ในขณะเดียวกัน บริษัทอาจจะต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้สนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทอีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้รวม 12,000-13,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2564

อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจจัดเก็บและบริหารหนี้สินจะอยู่ที่ระดับ 40%-50% ธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะอยู่ที่ 11%-16% และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ที่ 15%-19%

เงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ 600-1,000 ล้านบาทต่อปีและเงินลงทุนเพื่อซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารจะอยู่ที่ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2561-2564

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" อยู่บนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจจัดเก็บหนี้และการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาบริหารเอาไว้ได้ ในขณะที่สถานะทางการตลาดในธุรกิจจำหน่ายเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงแข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าผลการดำเนินงานของบริษัทลูกรายอื่น ๆ เช่น บริษัทเจ ฟินเทค และบริษัทเจเอเอส แอสเซ็ท จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังคงมีจำกัดในระยะเวลาอันใกล้เมื่อพิจารณาจากสถานะทางธุรกิจและการเงินของบริษัทในปัจจุบัน ในขณะที่ความกดดันทางด้านลบต่ออันดับเครดิตจะเกิดจากผลการดำเนินงานที่ถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งในส่วนของบริษัทเองหรือของบริษัทลูก หรือการลงทุนในเชิงรุกซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้จนระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อทุนที่ปรับปรุงแล้วอยู่สูงเกินกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ