PTTGC คาดแผนร่วมลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพ PLA ในไทยกับ NatureWorks ชัดเจนใน Q3/62

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 8, 2019 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) ในไทย ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท และ NatureWorks ของสหรัฐฯ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3/62

โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างรอให้ NatureWorks ตัดสินใจว่าจะเลือกการลงทุนในไทยหรือไม่ จากปัจจุบันที่มีตัวเลือก 2 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย เบื้องต้นทาง NatureWorks พอใจกับสิทธิประโยชน์ที่ทางรัฐบาลไทยมอบให้สำหรับการผลิตพลาสติกชีวภาพ แต่ยังต้องขอเวลาศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนจะตัดสินใจ

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทและ NatureWorks ในสัดส่วนฝ่ายละ 50% เพื่อดำเนินโครงการผลิตทั้งวัตถุดิบ Lactic Acid และผลิตภัณฑ์ PLA ซึ่งโครงการจะตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ภายใต้โครงการ"นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์"เฟสที่ 2 ที่ตามแผนจะคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงไตรมาส 1/66 โดยกำลังการผลิตเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในระดับหลักหมื่นตัน/ปี ซึ่งน่าจะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก

"เบื้องต้นทาง NatureWorks เขาพอใจเรื่องสิทธิประโยชน์ระดับหนึ่ง ส่วนจะต้องการอะไรเพิ่มอีกเขาก็ต้องไปศึกษาซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป ตอนนี้ก็น่าจะใกล้ได้ข้อสรุป Q3 ก็น่าจะทราบว่าโครงการ PLA ของ NatureWorks จะมาที่ไทยหรือไม่"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ปัจจุบัน PTTGC ถือหุ้น 50% ในบริษัท NatureWorks LLC ในสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ผลิต PLA รายใหญ่อันดับ 1 ของโลกด้วยกำลังการผลิต 1.4 แสนตัน/ปี และอยู่ระหว่างการตัดสินใจสร้างโรงงาน PLA แห่งที่ 2 ขณะที่ปัจจุบันมีโรงงานผลิต PLA ในไทยอยู่แล้ว 1 แห่งในนามของบริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังการผลิตราว 7.5 หมื่นตัน/ปี

สำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ ประกอบด้วย 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ PLA และ Polybutelene Succinate (PBS) โดย PLA เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติแข็งและใส กระบวนการย่อยสลายค่อนข้างยากและมีค่าใช้จ่าย แต่ราคาผลิตภัณฑ์แพงกว่าพลาสติกทั่วไป 1 เท่า ขณะที่ PBS เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัตินุ่ม และสามารถย่อยสลายได้เลยเอง แต่ราคาผลิตภัณฑ์แพงกว่าพลาสติกทั่วไปถึง 4 เท่า ปัจจุบันบริษัทมีการผลิต PBS ในระดับเชิงพาณิชย์ ที่จ.ระยอง ขนาด 2 หมื่นตัน/ปี

วันนี้ PTTGC ร่วมกับบมจ.ปตท. (PTT) และบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) แถลงความร่วมมือเปิดร้าน "คาเฟ่ อเมซอน เซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปต์"สาขาพีทีที สเตชั่น สามย่าน ตอบโจทย์แนวคิดรักษ์โลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยนำขยะมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ทันสมัยตกแต่งร้าน โดย PTTGC จะช่วยสร้างสรรค์ความพิเศษให้กับร้านคาเฟ่ อเมซอน คอนเซ็ปต์ สโตร์ คือ วัสดุและเฟอร์นิเจอร์ที่นำมาตกต่างทั้งภายในและภายนอกร้าน ทำมาจากวัสดุเหลือใช้ทั้งจากภายในร้านคาเฟ่ อเมซอน โรงคั่วกาแฟ และขยะพลาสติกที่นำมาแปรรูปและออกแบบเป็นของตกแต่ง

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTTOR เปิดเผยว่า สำหรับร้านคาเฟ่ อเมซอน ภายใต้แนวคิดดังกล่าวจะใช้วัสดุเหลือใช้มาตกแต่งภายในร้านคิดเป็นประมาณ 70% ของวัสดุภายในร้านทั้งหมด ซึ่งกลุ่มปตท.มีแนวคิดที่จะปรับปรุงร้านคาเฟ่ อเมซอน ใต้อาคาร ENCO และสำนักงานใหญ่ปตท. เพื่อให้เป็นรูปแบบเซอร์คูล่า ลิฟวิ่ง คอนเซ็ปต์อีก 2 แห่งภายในปีนี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่ม ปตท.มีสถานีบริการน้ำมัน 1,700 แห่ง มีร้านคาเฟ่ อเมซอน 2,600 สาขา มีผู้เข้าใช้บริการ้านคาเฟ่ อเมซอนกว่า 2 ล้านคน/วัน โดยมีการใช้แก้วกาแฟเย็น 8 แสนแก้ว/เดือน แก้วกาแฟร้อน 1.5 ล้านแก้ว/เดือน และหลอด 270 ล้านหลอด/เดือน ซึ่งปัจจุบันมีการใช้แก้วไบโอพลาสติกมากขึ้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์หลอดเป็นไบโอพลาสติกทั้งหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ