KTBST จับมือ"ไห่ตง อินเตอร์ฯ"ขยายธุรกิจลงทุนทั่วโลก เพิ่มโอกาสนลท.ไทยลงทุนตปท.-ดึงต่างชาติเข้าตลาดหุ้นไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 11, 2019 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล. เคทีบี (ประเทศไทย) หรือ KTBST เปิดเผยว่า KTBST ลงนามความร่วมมือกับกลุ่มบล.ไห่ตง อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ไพรเวท ลิมิเต็ด (สิงคโปร์) (Haitong International (Singapore)) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบล.ไห่ตง อินเตอร์เนชั่นแนล (Haitong International , รหัสหลักทรัพย์: 665.HK) ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2562 ผ่านมา ซึ่งการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกันครั้งนี้ ถือเป็นความเชื่อมโยงทางธุรกิจกันระหว่างประเทศไทย กับเกาหลี , จีน , ฮ่องกง, และสิงคโปร์

KTBST เป็นสถาบันการเงินในประเทศไทย ในเครือของ KTB Investment & Securities หรือ KTBIS ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ที่เป็นธุรกิจหลักของ KTB Group ประเทศเกาหลีใต้ โดยการทำข้อตกลงความร่วมมือกับ Haitong International ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นในฮ่องกง, สิงคโปร์, นิวยอร์ก, ลอนดอน, โตเกียว, ซิดนีย์, และมุมไบ ในครั้งนี้ ได้ทำในนามของ KTB Group โดยให้ KTBST เป็นตัวกลางเชื่อมโยง

วัตถุประสงค์ของความร่วมมือกันในครั้งนี้ คือ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริการด้านวาณิชธนกิจและนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ใน 4 ด้านสำคัญ คือ บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ (Equity Research) การบริหารจัดการลงทุน (Asset Management) งานด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) และผลิตภัณฑ์การเพื่อบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management products) ซึ่งข้อตกลงนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจของ KTBST ไปสู่ระดับสากล เพื่อหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในด้านการให้บริการและผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า เพื่อก้าวสู่การเป็น "สถาบันการเงินที่โดดเด่นของประเทศไทย" ตามวิสัยทัศน์ ของ KTBST ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้

"KTBST ตัดสินใจร่วมมือกับ Haitong International เนื่องจาก ทั้ง 2 บริษัท มีความเป็นเอกเทศไม่ขึ้นอยู่กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และมีโครงสร้างการบริหารงานและบุคคลากรที่ทำงานคล้ายคลึงกัน อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ และเข้าใจตลาดทุนอย่างลึกซึ้ง เราเชื่อมั่นว่าการผนึกกำลังจากความร่วมมือในครั้งนี้จะสามารถเพิ่มศักยภาพการให้บริการ และขยายธุรกิจด้านการลงทุนให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น"นายวิน กล่าว

นอกจากนี้ KTBST เล็งเห็นว่า Haitong International มีแพลตฟอร์มการให้บริการด้านการเงินที่มีมาตรฐาน สามารถให้บริการได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารการเงินขององค์กร, การบริหารความมั่งคั่ง , การบริหารจัดการลงทุน, ธุรกิจลูกค้าสถาบัน และธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ, รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ครบวงจร ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ KTBST จะเป็นประตูเชื่อมโยงสำหรับนักลงทุนไทย และนักลงทุนเกาหลีไปสู่การลงทุนในตลาดทุนจีนและตลาดทั่วโลก

สำหรับรายละเอียดความร่วมมือในครั้งนี้ สำหรับด้านธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Brokerage) และธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) KTBST มีแนวคิดที่จะร่วมมือ Haitong International เพื่อจัดโรดโชว์ให้กับนักลงทุนที่มีศักยภาพ และสนใจการลงทุนในตลาดทุนในประเทศจีน (Onshore) และตลาดทุนต่างประเทศนอกจากประเทศจีน (Offshore) และ KTBST ก็จะแนะนำโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้กับลูกค้าของ Haitong International รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่าง KTBIS ประเทศเกาหลีใต้กับ Haitong International ในการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อให้นักลงทุนเกาหลีใต้มีโอกาสไปลงทุนในตลาดหุ้นจีนอีกด้วย

ส่วนความร่วมมือด้านบทวิเคราะห์หลักทรัพย์และการลงทุน (Research) KTBST มีเป้าหมายให้บทวิเคราะห์และข้อมูลด้านการลงทุนครอบคลุมไปถึงตลาดทุนในภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะตลาดทุนประเทศจีน ดังนั้น ด้วยความร่วมมือกันนี้จะช่วยยกระดับบทวิเคราะห์ของ KTBST ไปสู่ความเป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น

และความร่วมมือในด้านผลิตภัณฑ์การลงทุน ปัจจุบัน KTBST มีจุดแข็งหลักในการนำเสนอโอกาสการลงทุนผ่านผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนในตลาดยุโรป และสหรัฐฯ ให้กับลูกค้า และการได้พันธมิตรอย่าง Haitong International จะทำให้ KTBST สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนครอบคลุมไปยังตลาดทุนในจีน และเอเชีย ผ่านทาง Haitong International Asset Management ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของ Haitong International

โดยผลิตภัณฑ์แรกที่ KTBST ร่วมมือกับ Haitong International นั้น KTBST ขอแนะนำโอกาสการลงทุนใหม่ในประเทศจีน จากการใช้กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้จีนในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (Chinese USD fixed income strategy) ซึ่งมีโครงสร้างการลงทุนที่เรียกว่า Multi-tranche ซึ่งเป็นกองทุนที่สามารถออกหน่วยลงทุนหลายชนิดที่ให้สิทธิหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่แตกต่างกันได้ในตราสารหลากหลายและยืดหยุ่น เพื่อสนองตอบความต้องการของนักลงทุนที่รับความเสี่ยงและต้องการผลตอบแทนที่แตกต่างกัน

นายวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมุมมองการลงทุนในประเทศจีน KTBST มีมุมมองที่เป็นบวกต่อการลงทุนในประเทศจีน และแนะนำให้เพิ่มน้ำหนัก การลงทุนในตลาดหุ้นจีน (Overweight) โดยมองว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมาที่ระดับ P/E ประมาณ 13.17 เท่า และอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ยังคงแข็งแกร่งที่ระดับ 16.90% แม้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะปรับลดประมาณการณ์การเติบโตของ GDP ประเทศจีนในปีนี้ลงจากระดับ 6.3% เหลือ 6.2% เนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น แต่มองว่าตลาดหุ้นจีน ไม่น่าจะปรับตัวลงไปต่ำกว่านี้ เนื่องจากรัฐบาลจีนมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายด้าน ขณะที่ผลการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ แม้ยังไม่มีข้อสรุปแต่มีการตกลงกันได้ในบางประเด็น ถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นจีนในกลุ่มการเงินและกลุ่มอื่น ๆ ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนจึงยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ แม้ปัจจัยสงครามการค้าจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจจีน แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยพื้นฐานที่ยังแข็งแกร่งและการที่เศรษฐกิจจีนสามารถปรับตัวได้เพื่อรับมือกับผลกระทบได้อย่างดี โดยเฉพาะการที่บริษัทในประเทศจีนเริ่มมีความเป็นสากลมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และได้ออกไปสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสทางการเงินที่หลากหลาย เช่น รีทส์, ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูง (High-yield bond), และหุ้นที่เสนอขายในตลาดครั้งแรก (IPO) ซึ่งเป็นธุรกิจของ Haitong International โฟกัสอยู่ตอนนี้

นาย เฉิน ฉวน ซีอีโอ ไห่ตง อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรเวทเวลธ์ กรุ๊ป ประเทศสิงคโปร์ และกรรมการผู้จัดการ - ไห่ตง อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรเวทเวลธ์ แมนเนจเมนต์ และ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ไห่ตง อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า Haitong International จัดตั้งขึ้นที่ฮ่องกง และมีสาขาอยู่ทั่วโลก และมีความมุ่งมั่นที่จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างตลาดทุนของจีนและต่างประเทศ การร่วมมือกับ KTBST จะปูทางให้ Haitong International สามารถเข้าถึงตลาดทุนไทย และตลาดทุนเกาหลีใต้ จึงเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะสนับสนุนให้การขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียในเอเชียมีความแข็งแกร่ง และสามารถให้บริการแก่นักลงทุนจากทั่วโลกได้ดียิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ