(เพิ่มเติม) ThaiBMA คาดมูลค่าการออกตราสารหนี้ปีนี้ทะลุ 1 ล้านลบ.เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 11, 2019 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) คาดปีนี้จะมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชน แตะระดับ 1 ล้านล้านบาท หลังจากในครึ่งปีแรกมีมูลค่าการออกกว่า 5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ออกรายใหญ่ 10 อันดับแรกมีมูลค่าการออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50%ของมูลค่าการออกในครึ่งแรกปี 62

นายธาดา พฤติธากา กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA เปิดเผยว่า ในครึ่งปีแรกนี้ ตลาดตราสารหนี้ไทยโดยรวมเติบโตสูงกว่า 5.45% มีมูลค่าคงค้างรวมเพิ่มขึ้นเป็น 13.49 ล้านล้านบาท จาก 12.79 ล้านล้านบาทเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา โดยตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวมีการออกเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผู้ออกรายใหญ่ 10 อันดับแรก มีมูลค่าการออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าการออกในครึ่งแรกปีนี้ ส่วนตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วกว่า 68% โดยเป็นการลดลงของการออกตัวสัญญาใช้เงิน (ตั๋ว PN) ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน

ทั้งนี้มองทิศทางการออกตราสารหนี้ระยะยาวในครึ่งปีหลังนี้จะมีการออกอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันมีตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด (Rollover) ในครึ่งปีหลังมูลค่าราว 2.73 แสนล้านบาท โดยคิดเป็น 65% หรือ 1.85 แสนล้านบาท ที่จะมีการ Rollover และที่มีการยื่นไฟลิ่งเข้ามาแล้วอีก 1.02 แสนล้านบาท รวมถึงจะมีการออกเพื่อใช้ในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) อีก 5 หมื่นล้านบาท และการออก Basel 3 ราว 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลทำให้ในปีนี้จะมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะยาวแตะ 1 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะมีการออกตราสารหนี้ระยะยาว 7.5-8 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังมองทิศทาง Fund Flow ในตลาดตราสารหนี้ในครึ่งปีหลังนี้ น่าจะเห็นเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็น Index fund flow ที่นักลงทุน Passive Fund ทั่วโลกใช้ ขณะที่ตราสารหนี้ระยะสั้นน่าจะผันผวนน้อยลง หรือน่าจะไม่เห็นเงินทุนไหลเข้ามาแล้ว หลังจากที่ล่าสุดธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการส่งสัญญาณว่าหากมีความจำเป็นก็พร้อมที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีแรกมียอดการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเท่ากับ 3,213 ล้านบาท โดยเป็นการขายออกในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น และเข้าซื้อในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว โดยมีมูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิของต่างชาติในตราสารหนี้ไทย ณ ครึ่งปีแรกเท่ากับ 989,206 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.3% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย

นายธาดา กล่าวว่า สำหรับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงครึ่งหลังนี้ มองว่าจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า และอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง จะเป็นแรงกดดันให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอาจขยับลง จากการปรับลดวงเงินการประมูลพันธบัตร ธปท.ที่เริ่มในเดือนก.ค.นี้ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวน่าจะปรับตัวลงในกรอบจำกัด จากปัจจัยเงินเฟ้อและการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยังคงทรงตัว เพื่อรอความชัดเจนของนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่

โดยเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในครึ่งปีแรกมีความชันน้อยลง โดยรุ่นอายุไม่เกิน 1 ปีปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 4-19 bps. ตามการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่วนรุ่นอายุ 10 ปี ค่อนข้างทรงตัวในช่วง 5 เดือนแรกของปี แล้วปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในเดือนมิ.ย.กว่า 32 bps จาก 2.47 % เมื่อปลายเดือนพ.ค. ลงมาที่ 2.15% เมื่อสิ้นเดือนมิ.ย.

พร้อมกันนี้ มองกฎหมายภาษีกองทุนตราสารหนี้ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแก้ไขกฎหมายจัดเก็บภาษีในอัตรา 15% จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 20 ส.ค.62 จะกระทบต่อผลตอบแทนกองทุนรวมแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่รุนแรง และไม่ลดลง 15% ในทันที เนื่องจากทรัพย์สินภายในกองทุนมีทั้งตราสารหนี้เก่า (ไม่ถูกหักภาษี) และตราสารหนี้ใหม่ (ถูกหักภาษี) รวมถึงยังมีการผ่อนผันการบังคับใช้ไปอีก 3 เดือนหลังประกาศ ทำให้กองทุนมีระยะเวลาปรับตัวในการส่งผ่านภาระภาษีไปยังผู้เสนอขายตราสารหนี้

อย่างไรก็ตามทาง ThaiBMA ต้องการให้ภาครัฐทบทวนวิธีการจัดเก็บภาษีจากตราสารหนี้ว่าจะทำอย่างไรให้ง่ายขึ้นในทางปฎิบัติ เช่น เก็บวันที่ออก ไม่ดูที่วันถือครอง เป็นต้น หรือยกเลิกการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไปเลย โดยมีแผนจะเสนอแนวทางต่อภาครัฐต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ