FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซน"ร้อนแรง"ครั้งแรกในรอบห้าเดือน เงินไหลเข้า-นโยบายการเงินสหรัฐหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 6, 2019 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ต.ค.62) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 19.89% มาอยู่ที่ระดับ 131.21 นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง และอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (Bullish) ที่มีช่วงค่าดัชนี 120-159 เป็นเดือนแรกในรอบห้าเดือน โดยปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศจากนักลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้น รองลงมาคือนโยบายทางการเงินของสหรัฐ จากการส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 และการคาดหวังนโยบายภาครัฐ ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังมีการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถคาดการณ์ได้ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง

ผลสำรวจยังพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ทรงตัวอยู่ใน Zone ร้อนแรงอย่างมาก (Very Bullish) , ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish) ,ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนรายบุคคลเพิ่มขึ้นมาอยู่ใน Zone ร้อนแรง (Bullish), ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ลดลงมาอยู่ใน Zone ทรงตัว (Neutral)

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพาณิชย์ (COMM) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) โดยปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

"ผลสำรวจ ณ เดือนกรกฏาคม ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สอง มาอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรงเป็นเดือนแรกในรอบห้าเดือน โดยกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ทรงตัวอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรงอย่างมาก กลุ่มบัญชีนักลงทุนรายบุคคลและกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์ทรงตัวมาอยู่ที่เกณฑ์ร้อนแรง ขณะที่กลุ่มสถาบันในประเทศลดลงจากเกณฑ์ร้อนแรงมา อยู่ที่เกณฑ์ทรงตัว"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวเคลื่อนไหว Sideway ในช่วง 1,706-1,748 จุด จากระดับสูงสุดช่วงต้นเดือนเคลื่อนไหวลดลงสลับกับการพักตัว โดยดัชนีมาอยู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1,706 จุด ในช่วงปลายเดือน

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตาม ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางปัญหาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐจากการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ 10% ในสินค้านำเข้าจากจีนในส่วนที่เหลือ และการงดนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐของจีน ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่ามาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี แนวโน้มการเก็บภาษีนำเข้าภาษีรถยนต์ของสหรัฐที่ส่งผลต่อยุโรปและญี่ปุ่น

การเจรจาการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ที่ประกาศออกจากสหภาพยุโรป (EU) ในวันที่ 31 ต.ค.62 ไม่ว่าสามารถได้ข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม สัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของ EU จากปัจจัยเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ทิศทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 6.2% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนสิงหาคม 2562 ว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบเดือนสิงหาคมนี้ อยู่ที่ระดับ 52 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครั้งที่แล้ว แต่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)" สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนสิงหาคมนี้ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.75% ต่อไป โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และ Fund flow จากต่างชาติที่ลดลง เป็นปัจจัยกำหนดที่สำคัญ

ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุม กนง. กันยายน 2562 (ประมาณ 7 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 45 และ 48 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้ว แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ "ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน (Unchanged)" ซึ่ง Bond yield 5 ปีอยู่ที่ระดับ 1.75% และ Bond yield 10 ปีอยู่ที่ 1.95% ณ วันที่ทำการสำรวจ (19 ก.ค. 62) โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่มีแนวโน้มลดลง อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ และ Fund flow จากต่างชาติ

"ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.75% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 7 สัปดาห์ข้างหน้านับจากวันที่ทำการสำรวจ (19 ก.ค. 62) เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ