(เพิ่มเติม) IRPC คาดกำไร H2/62 ดีกว่า H1/62 จากมาร์จิ้นธุรกิจกลั่นดีขึ้น-ปิโตรฯทรงตัว ,รับยากดัน EBITDA เข้าเป้า 2.9 หมื่นลบ.ปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 15, 2019 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรสุทธิในครึ่งหลังของปี 62 จะดีกว่าครึ่งปีแรกที่ทำได้ 660 ล้านบาท หลังมองว่าธุรกิจกลั่นน้ำมันจะดีขึ้นรับปัจจัยบวกจากเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลเพิ่มขึ้น หนุนให้ส่วนต่าง (สเปรด) ราคาน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ส่วนอัตรากำไร (มาร์จิ้น) ปิโตรเคมียังน่าจะทรงตัว หลังยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากดดันราคา

ขณะที่เป้าหมายกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในปี 63 ที่ระดับ 2.9 หมื่นล้านบาท หรือเทียบเท่าความสูงของยอดขาย EVEREST นั้น น่าจะเป็นไปได้ยากภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกเผชิญกับสงครามการค้ากดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและปิโตรเคมีมีความผันผวน โดย EBITDA ในปี 61 ทำได้ 1.83 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.66 พันล้านบาท

"กำไรในครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นจากธุรกิจกลั่นน้ำมันที่ได้รับผลบวกจากเกณฑ์ IMO และมีแนวโน้มจะบวกมากกว่าที่คาดด้วย เพราะวันนี้เราผลิตน้ำมันดีเซลประมาณ 60% ส่วนธุรกิจปิโตรเคมีน่าจะยังแค่ทรงๆ ตัว ซึ่งภาพรวมน่าจะผลักดันให้ GIM ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ทำได้มากกว่าระดับ 9.94 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในครึ่งปีแรก"นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวอีกว่า ปัจจัยบวกจากเกณฑ์ใหม่ของ IMO เริ่มสะท้อนให้เห็นจากสเปรดน้ำมันดีเซลและน้ำมันดิบที่ปัจจุบันอยู่ราว 17 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 12.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 2/62 เป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลมาผสมในน้ำมันเตาเพื่อให้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ หลังจากปัจจุบันสิงคโปร์เริ่มเก็บสต็อกน้ำมันเตากำมะถันต่ำแล้ว ขณะที่สเปรดน้ำมันเบนซินและน้ำมันดิบ ปรับขึ้นมาที่กว่า 12 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 7.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากการที่จีนส่งออกน้ำมันเบนซินน้อยลง

ทั้งนี้ บริษัทสามารถผลิตน้ำมันเตากำมะถันต่ำได้ โดยมีขีดความสามารถได้สูงถึง 6 หมื่นตัน/เดือน โดยในเดือนก.ค.เริ่มส่งออกน้ำมันเตากำมะถันต่ำไปแล้ว 1.5 หมื่นตันเป็นรายแรกของไทย

สำหรับช่วงครึ่งหลังของปีนี้คาดว่าจะมีการกลั่นน้ำมันในระดับ 2.05-2.06 แสนบาร์เรล/วัน สูงกว่าในครึ่งปีแรกที่กลั่นน้ำมันเฉลี่ย 2.03 แสนบาร์เรล/วัน โดยในช่วงไตรมาส 3/62 คาดว่าจะกลั่นน้ำมันราว 2 แสนบาร์เรล/วัน แม้ว่าจะมีหยุดซ่อมบำรุงโรงงานแปรสภาพคอนเดนเสทเรสซิดิว (ADU1) กำลังการผลิต 6.5 หมื่นบาร์เรล/วัน ราว 15 วันในเดือน ส.ค.นี้ก็ตาม ซึ่งการหยุดซ่อมบำรุงดังกล่าวเลื่อนจากเดือนพ.ย.มาเป็นส.ค. เพื่อที่จะสามารถกลั่นน้ำมันได้เต็มที่ในช่วงที่คาดว่ามาตรการ IMO จะผลักดันสเปรดผลิตภัณฑ์น้ำมันสูงขึ้นกว่านี้ในช่วงปลายปี

ส่วนมาร์จิ้นธุรกิจปิโตรเคมีคาดว่าจะทรงตัวจากครึ่งปีแรก โดยยังต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าและสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ที่จะส่งผลต่อราคาน้ำมันและราคาปิโตรเคมี และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้บริษัทปรับตัวด้วยการลดส่งออกเม็ดพลาสติกไปจีนเหลือราว 20% หรือต่ำกว่า จากเดิมที่ 30% ของการส่งออก และหันมาทำตลาดในอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม รวมถึงการขายในประเทศมากขึ้น เพราะเริ่มเห็นผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามหรือไทยมากขึ้นด้วย

นอกจากนี้บริษัทยังสามารถบริหารสภาพคล่องของธุรกิจด้วยการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เหมาะสม และพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงพยายามจะลดสต็อกน้ำมันให้อยู่ในระดับ 9 ล้านบาร์เรล จากเดิมที่อยู่ในระดับ 10 ล้านบาร์เรล เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์

"ระยะสั้นผลกระทบจาก trade war ทำให้สถานการณ์มีการชะลอการซื้อ และกระทบต่อราคา แต่ในด้านปริมาณขายไม่กระทบมากนัก"นายนพดล กล่าว

นายนพดล กล่าวอีกว่า ในระยะยาวบริษัทคงเดินหน้าการขยายลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในอนาคต แต่การพิจารณาต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะในโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS: Maximum Aromatics Project) กำลังการผลิตพาราไซลีน (PX) จำนวน 1-1.3 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 3-5 แสนตัน/ปี ประมาณการการลงทุนมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ที่คาดว่าจะได้ภายในปี 63 ส่งผลให้โครงการเลื่อนออกไปจากแผนเดิมที่จะแล้วเสร็จในปี 66 เป็นปี 67 ซึ่งไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมโครงการมากนัก เนื่องจากในปีที่โครงการแล้วเสร็จภาวะตลาด และประมาณการส่วนต่างราคา พาราไซลีนยังมีแนวโน้มที่ดีอยู่

รวมถึงขยายการลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภายใต้แพลตฟอร์ม "พลาสเก็ตดอทคอม (PLASTKET.COM)" เป็นการร่วมทุนระหว่าง และบริษัท Guangzhao Saiju Performance Polymer Ltd. (GZSJ จากจีน โดยแพลตฟอร์มนี้จะจำหน่ายเม็ดพลาสติกจากทุกแบรนด์ ไม่จำกัดเฉพาะผลิตภัณฑ์ของ IRPC และในกลุ่ม ปตท. แต่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการพลาสติก SME ทั่วประเทศเข้ามานำเสนอ จำหน่าย ซื้อขายสินค้าได้อย่างปลอดภัยและโปร่งใส

นอกจากนี้จะพัฒนาเพื่อเพิ่มสัดส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ เป็นระดับ 55% ภายในสิ้นปีนี้ จาก 52% ในปัจจุบัน และเพิ่มเป็น 60% ในปี 63 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมาร์จิ้นให้กับสินค้าของบริษัท โดยล่าสุดได้ทุ่มงบประมาณ 700 ล้านบาทเพื่อสร้างศูนย์นวัตกรรมซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ รองรับการพัฒนาสินค้าเกรดพิเศษ ที่ปัจจุบันก็ได้มีการวิจัยและนำออกสู่ตลาดได้แล้ว 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พีพี คอมปาวด์เกรดพิเศษ (PP Compound) นำมาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งภายในและภายนอกรถยนต์รุ่น FOMM ONE ของบริษัท FOMM Corporation ผู้ออกแบบยานยนต์ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น โดยชิ้นส่วนพลาสติกที่ใช้ 90% เป็นผลิตภัณฑ์ PP Compound ของบริษัท

และ ผลิตภัณฑ์ HDPE Specialty (High Density Polyethylene) เกรดพิเศษที่ออกแบบให้เนื้อพลาสติกเป็นสีเทาใช้เป็นทุ่นโซลาร์ลอยน้ำที่ช่วยลดอุณหภูมิใต้แผง ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงมากขึ้น โครงการนี้จะเป็นต้นแบบของการพัฒนาโครงการด้านพลังงานทดแทนของประเทศ โดยบริษัทมองถึงการต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018)

ปัจจุบันบริษัทได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในโครงการโซลาร์ลอยน้ำ 12.5 เมกะวัตต์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี ในจ.ระยอง มีมูลค่า 550 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ได้ราว 17% ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 63 และปัจจุบันมีผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการโซลาร์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธรของกฟผ. ได้เข้ามาเจรจาเพื่อขอราคาผลิตภัณฑ์ HDPE ดังกล่าวกับบริษัทจำนวนมาก ซึ่งทำให้จะมีโอกาสต่อยอดในโครงการโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ.ต่อในอนาคต

นายนพดล กล่าวถึงผลประกอบการในงวดครึ่งแรกของปีนี้ที่ทำกำไรสุทธิได้เพียง 660 ล้านบาท ลดลงราว 90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้บริษัทคงจะไม่มีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวดครึ่งแรกปีนี้ และจะพิจารณาเรื่องการจ่ายเงินปันผลอีกครั้งสำหรับผลประกอบการทั้งปี 62


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ