CIMBT มองกองทุนใหม่ SEF เป็นทางเลือกคล้าย LTF แม้สิทธิประโยชน์ลด แต่ขยายฐานมากขึ้น คาดดึงเงินเข้าตลาด 3-4 หมื่นลบ./ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 19, 2019 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารผลิตภัณฑ์การออม ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า กองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) ซึ่งคาดว่าจะเป็นกองทุนรวมใหม่ที่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่จะเข้ามาทดแทนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งจะสิ้นสุดการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในสิ้นปี 62 โดยธนาคารมองว่ากองทุน SEF ยังจะเป็นกองทุนที่มีความน่าสนใจในการลงทุน โดยเฉพาะการออมเงินเพื่อการลงทุน ซึ่งโครงการสร้างการลงทุนของกอง SEF ยังคงคล้ายคลึงกับกองทุน LTF มีระยะเวลาการลงทุน 7 ปีปฏิทิน และยังลงทุนในหุ้น แต่จะเน้นไปที่การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเข้ามาเสริมและมีการลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เพิ่มเข้ามาด้วย แม้ว่ากองทุน SEF จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ลดลงจากกองทุน LTF แต่กองทุน SEF จะขยายฐานของกลุ่มประชาชนที่กว้างมากขึ้นกว่ากองทุน LTF โดยที่กองทุน SEF จะเน้นไปที่กลุ่มประชาชนรายได้ระดับปานกลาง ที่มีรายได้เฉลี่ย 50,000-70,000 บาท/เดือน จากการปรับเกณฑ์สิทธิประโยชน์ทางภาษีลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 250,000 บาท จากเดิมที่กองทุน LTF มีเกณฑ์สิทธิประโยชน์ทางภาษีลงทุนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งจะเน้นไปที่กลุ่มประชาชนที่มีรายได้ 100,000 บาท/เดือนขึ้นไป ทำให้ฐานการเข้าถึงการออมผ่านกองทุน SEF กว้างขึ้นกว่ากองทุน LTF และคาดว่ากองทุน SEF จะช่วยดึงดูดเมึดเงินการลงทุนเข้าตลาดเฉลี่ย 3-4 หมื่นล้านบาท/ปี ใกล้เคียงกับกองทุน LTF

ด้านการคาดการณ์ผลตอบแทนการลงทุนของกองทุน SEF ธนาคารยังคาดว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงระยะเวลา 5 ปี จะใกล้เคียงกับกองทุน LTF ที่ให้ผลตอบแทน 5 ปีย้อนหลัง 5-8% ต่อปี เพราะรูปแบบของการลงทุนในกองทุน SEF และ LTF มีความคล้ายคลึงกัน และมองว่าการแข่งขันของบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) ที่เสนอขายกองทุน SEF ออกมานั้นจะยังคงแข่งขันกันด้วยความสามารถในการให้อัตราผลตอบแทนที่สูงเช่นเดียวกับการแข่งขันของการเสนอขายกองทุน LTF ซึ่งวัดกันด้วยการสร้างผลงานของผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน และการลงทุนในกองทุน SEF, LTF และ RMF ธนาคารยังคงแนะนำว่าควรเป็นการทยอยการลงทุนมากกว่าการลงทุนในครั้งเดียว เพราะนักลงทุนสามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนในแต่ละช่วงจังหวะได้ ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนโดยใช้เงินก้อนเดียว และการทยอยการลงทุนส่วนใหญ่ในระยะเวลาลงทุน 7 ปี จะได้อัตราผลตอบแทนที่ 7-8% ซึ่งชนะเงินเฟ้อ

"เรายังคงมองว่าการลงทุนในกองทุน LTF และ RMF รวมถึงกองทุนใหม่ SEF ยังเป็นทางเลือกในการลงทุนเพื่อการออมในวัยเกษียณที่ดี โดยเฉพาะกองทุน LTF ที่แต่ละบลจ.ต่างแข่งขันกันสร้างผลงานออกมาอย่างดี ซึ่งสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุน ซึ่งหากสร้างผลงานไม่ดีผู้ลงทุนก็สามารถย้ายไปลงทุนกับบลจ.อื่นได้ เหมือนกับการรีไฟแนนซ์ แต่การลงทุนแนะนำเป็นการทยอยซื้อจะดีที่สุด เพราะระยะยาว 7 ปี เราไม่สามารถรู้ได้ว่าภาวะของตลาดในแต่ละช่วงจะเป็นอย่างไร ทำให้การทยอยซื้อเป็นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และยังได้ผลตอบแทนที่ดี"นางสาวดุษณี กล่าว

สำหรับในปัจจุบันที่ภาวะตลาดหุ้นมีความผันผวนมาก จากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ความกังวลของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และภาวะเศรษฐกิจโลกที่กลับมาชะลอตัว ทำให้ตลาดหุ้นเกิดความผันผวน ทำให้ธนาคารมองว่าการเหวี่ยงของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้มีโอกาสปรับตัวขึ้นและลงราว 100 จุด ทำให้การลงทุนในช่วงนี้จะต้องระมัดระวังการลงทุน โดยกลยุทธ์การลงทุนจะเป็นการทยอยซื้อ และกระจายการลงทุนไปในการลงทุนประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากการลงทุนในหุ้น เช่น การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตเรตติ้ง ที่จะเป็นหุ้นกู้ที่นักลงทุนเชื่อมั่นได้ว่าได้รับเงินต้นคืนเมื่อสิ้นสุดโครงการ และยังได้ผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกไตรมาส การฝากเงินออมทรัพย์หรือฝากประจำในผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงที่ดีในภาวะตลาดหุ้นมีความผันผวน

ส่วนการลงทุนในทองคำ ธนาคารยังมองว่าราคาทองปัจจุบันราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นไปมาก จากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก ซึ่งหากยังไม่มีการลงทุนในทองคำและต้องการเข้าลงทุนยังสามารถลงทุนได้แบบทยอยซื้อ แต่หากมีการลงทุนในทองคำแล้วให้ถือรอหรือทยอยขายออกไปบางส่วนได้

ด้านกลุ่มลูกค้า Prefered และกลุ่ม Wealth ของธนาคารในปีนี้คาดว่าจำนวนฐานลูกค้าทั้ง 2 กลุ่มของธนาคารจะใกล้เคียงปีก่อนที่มีฐานลูกค้า Prefered อยู่ที่ 80,000 ราย และกลุ่ม Wealth 100,000 ราย ซึ่งธนาคารจะไม่เน้นการขยายฐานลูกค้ามากในปีนี้ แต่จะหันมาช่วยลูกค้าบริหารความมั่งคั่งให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยผลักดันมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของลูกค้าในปัจจุบันใหม่เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 6 ล้านบาท/ราย ภายในสิ้นปี 62 จากสิ้นปีก่อนที่ 5.8 ล้านบาท/ราย ซึ่งเป็นความท้าทายในการที่จะเพิ่ม AUM ให้เพิ่มขึ้น จากภาวะตลาดที่ผันผวน ซึ่งมองว่า AUM ของตลาดในปีนี้จะไม่เติบโตมาก และการเติบโต AUM ของลูกค้าธนาคารในปีนี้ก็จะเป็นไปตามทิศทางเดียวกับตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ