(เพิ่มเติม) AOT คาดกำไรสุทธิงวดปี 62 (สิ้นสุดก.ย.) ใกล้เคียงปีก่อนที่ 2.5 หมื่นลบ.หลังรายได้โตลดลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 21, 2019 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่าในงวดปี 62 (สิ้นสุด ก.ย.) กำไรสุทธิ ใกล้เคียงปีก่อนที่มี 2.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคาดว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตได้ราว 5-6% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ เป็นผลมาจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด ซึ่งคาดว่าในงวดปีนี้จะเติบโต 1.5% ต่ำกว่าเป้าที่คาดโต 6% จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดเติบโตเพียง 4-5% จากปีก่อนโต 8-9% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนลดลงมากหลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตเมื่อปีก่อน และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่วนในประเทศไม่โตจากกำลังซื้อในประเทศลดลงมาก สายการบินโลว์คอสต์อิ่มตัวแล้วซึ่งเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปี 57-58 แล้ว

ทั้งนี้ AOT ยังไม่แนวคิดปรับขึ้นค่าธรรมเนียมสนามบินในขณะนี้ เพราะบริษัทยังได้รับค่าธรรมเนียมสนามบิน (PSC) ของเส้นทางต่างประเทศที่ 700 บาท/คน และบริษัทก็ยังมีเงินสดในมือ มากถึง 7 หมื่นล้านบาทที่เพียงพอต่อการลงทุน

นายนิตินัย กล่าวว่า จากสัญญาณการชะลอตัวของการท่องเที่ยว บริษัทได้ปรับกลยุทธ์หันมาเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่การบิน (Non-Aero) มากขึ้น ได้แก่ ดิวตี้ฟรี พื้นที่เชิงพาณิชย์ เป็นต้น จากปัจจุบันมีสัดส่วยรายได้ Aero และ Non-Aeroที่ 57:43 ปรับเป็น 55:45 ในงวดปี 63 และคาด 50:50 ในงวดปี 64

ทั้งนี้ แม้รายได้จากธุรกิจการบินชะลอตัวจากสถานการณ์การท่องเที่ยว แต่ในงวดปี 64 AOT จะรับรู้กำไรจากธุรกิจดิวตี้ฟรีที่เป็นสัญญาฉบับใหม่กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทเติบโตมากขึ้น

ขณะที่ในงวดปี 63 ก็จะเริ่มรับรู้จากธุรกิจใหม่ ได้แก่ โครงการศูนย์ตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Certify Hub) เมืองการบิน(Airport City) Digital Platform เป็นต้น จะช่วยประคองผลประกอบการ

นายนิตินัย ยังกล่าวถึงการลงทุนเพื่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า โครงการทางวิ่งอากาศยาน (รันเวย์) เส้นที่ 3 มูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลและออกทีโออาร์ได้ในเดือน พ.ย.62 ซึ่งไม่ต้องเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอีก โดยคาดจะแบ่งสัญญาประมูลตามกลุ่มงานที่มี 3 กลุ่ม ได้แก่ การปรับพื้นผิว งานก่อสร้างรันเวย์ และงานก่อสร้างทางโค้งเชื่อมรันเวย์ และ Taxi way ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA)

*เลื่อนประมูลเทอร์มินอล 2 สุวรรณภูมิ ออกไปปี 64

นายนิตินัย กล่าวว่า โครงการงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีมูลค่าประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น บริษัทได้นำเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเมื่อเดือน พ.ค. 62 ที่ผ่านมา เพื่อขอเดินหน้าโครงการต่อเนื่องหลังได้หารือกับคณะกรรมการ Airport Consultative Commitee (ACC) ซึ่งเป็นผู้ใช้สนามบิน และได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะเดินหน้าดำเนินโครงการต่อ จากก่อนหน้าขอชะลอโครงการ ส่วนการทำส่วนต่อขยายด้านตะวันตก (West Wing) ของอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 1 ต้องรอกระทรวงคมนาคมพิจารณา ด้วย

ทั้งนี้ หากโครงการได้รับการอนุมัติ คาดจะใช้เวลา 1 ปีเศษ ในการออกแบบ ที่คาดว่าจะดำเนินการเอง และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่กันไป ขณะที่โครงการอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 จะสามารถรองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคน

"โครงการควรจะนับหนึ่งเมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว ตอนนี้ล่าช้าไป 10 เดือน และคาดว่าล่าช้าไป 1 ปี วงเงินลงทุนน่าจะเหมือนเดิม" นายนิตินัย กล่าว

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้รอเรื่องให้ปลัดกระทรวงคมนาคม นำเสนอเข้ามา โดยเห็นว่าโครงการนี้มีความจำเป็น ในการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะให้รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 150 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศ 30 ล้านคน

ทั้งนี้ เห็นว่าควรจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 ก่อนจะทำส่วนต่อขยายด้านตะวันออก หรือตะวันตก เพราะหากทำส่วนนี้ก่อนจะทำให้ความสามารถรองรับผู้โดยสาร หายไป 25%

"วันนี้ เท่าที่ดูอาคารผู้โดยสาร ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รองรับเกิน Capacity ถ้าเราไม่รีบทำล่วงหน้า จะเกิดปัญหาในอนาคต และรัฐบาลสนับสนุนให้ไทยเป็น Hub ในภูมิภาคอาเซียน"รมว.คมนาคม กล่าว

*บอร์ดไฟเขียวขอเข้าบริหาร 4 สนามบิน

นายนิตินัย กล่าวว่า ในวันนี้ คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติให้นำเสนอกระทรวงคมนาคมในการขอเข้าบริหารสนามบินภูมิภาค 4 แห่งแทนกรมท่าอากาศยาน โดย 4 สนามบิน ได้แก่ อุดรธานี บุรีรัมย์ ตาก และกระบี่ เปลี่ยนจากเดิมที่จะเข้าบริหารที่ อุดรธานี สกลนคร ตาก และชุมพร

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เนื่องจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรมว.คมนาคม ได้สั่งการก่อนออกจากตำแหน่งให้ AOT ทบทวนการเข้าบริหารสนามบินภูมิภาค ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และการจราจรทางอากาศและบนพื้น ดังนั้น ทางบริษัทจึงได้กลับมาทบทวน โดยยังคงสนามบินอุดรธานีและ ตาก ที่รองรับภาคอีสานตอนบนและทางเหนือ ส่วนอีสานใต้ เปลี่ยนมาที่บุรีรัมย์ จากเดิมสกลนคร เพราะเป็นสนามบินที่น้ำท่วมเป็นประจำ การจัด slot และการทำแผนธุรกิจ ทำได้ยาก ส่วนการเลือกสนามบินกระบี่ แทนชุมพร เพราะเป็นสนามบินคู่แฝดกับสนามบินภูเก็ต

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบปรับปรุงสนามบินราว 1.0-1.2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับงบเดิม อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาความเหมาะสมและจะมีการหารือภายในหน่วยงานกระทรวงคมนาคม ในสัปดาห์หน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ