GULF เล็งลงทุนโรงไฟฟ้า LNG 6,000 MW ในเวียดนาม-โรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว 2,500 MW คาดชัดเจนปี 63

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 2, 2019 12:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิตรวม 6,000 เมกะวัตต์ (MW) ในประเทศเวียดนาม และพร้อมกับการต่อยอดไปสู่ธุรกิจซื้อขายก๊าซ LNG ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 63 ขณะเดียวกันยังได้เจรจากับพันธมิตรจีนเพื่อร่วมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาว ขนาดกำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ เบื้องต้นบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 30-35% โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปของแผนลงทุนภายในปี 63

ส่วนแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯนั้น บริษัทได้ชะลอออกไป เนื่องจากมองว่าโครงการดังกล่าวจะยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และหันมาเน้นการลงทุนอื่น ๆ ในภูมิภาคมากขึ้น และมุ่งเน้นในโครงการที่มีผลตอบแทนที่ดี และสามารถพัฒนาโครงการได้ต่อเนื่องในอนาคต

ประกอบกับบริษัทยังมีโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศที่ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการ GSRC ตั้งอยู่ในอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กำลังการผลิตรวม 2,500 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันการก่อสร้างดำเนินการคืบหน้าแล้ว 30-40% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงปี 64 -65 และโครงการ GPD ที่ตั้งอยู่ใน จ.ระยอง กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากู้เงินจากสถาบันทางการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะ COD ได้ในปี 66-67

ขณะที่บริษัทวางแผนใช้เงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น จำนวน 3 โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ รวมประมาณราว 1.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 , โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 และโครงการงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานหลังจากเริ่มเปิดดำเนินการทั้งหมดภายในปี 70 จะอยู่ที่ระดับ 10-20% ของรายได้รวม ซึ่งมองว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) อยู่ที่ 10%

นายรัฐพล กล่าวอีกว่า บริษัทยังได้ใช้นวัตกรรมทางการเงินเพื่อปรับโครงสร้างพร้อมกับลดต้นทุนทางดอกเบี้ยให้มีต้นทุนทางการเงินลดลงอีกราว 1-1.5% ส่วนรายได้ในปี 62 ยังคงมั่นใจทำได้ตามเป้าหมายแตะ 3 หมี่นล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีก่อนที่ 2 หมื่นล้านบาท ตามการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าที่ COD กำลังการผลิตรวม 5,919 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ