ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ TU ที่ "A+" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 4, 2019 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่ระดับ "A+"

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลก รวมถึงการมีสินค้าและฐานลูกค้าที่หลากหลาย และตราสัญลักษณ์สินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกจำกัดโดยความเสี่ยงในหลายด้านของอุตสาหกรรมอันได้แก่ความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ ความเสี่ยงจากโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้าและกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลก ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ภาระหนี้ลดลงช้า การเติบโตที่ช้าลงของระดับกำไรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อแผนการลดภาระหนี้ของบริษัท บริษัทมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นมากจากการกู้เงินเพื่อลงทุนในกิจการ Red Lobster ในปี 2559 ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 2.0 หมื่นล้านบาท ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาแผนการลดภาระหนี้ของบริษัทถูกลดทอนโดยผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลงจากภาวะความผันผวนของราคาปลาทูน่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากคดีความ ตลอดจนผลการดำเนินงานของ Red Lobster ที่อ่อนแอกว่าคาด ส่งผลให้หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทลดลงเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 6.6 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 จากระดับ 6.8 หมื่นล้านบาทในปี 2559 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอ่อนลงมาอยู่ที่ระดับ 6-7 เท่าในช่วงปี 2559 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2562 จากระดับ 3-5 เท่าในปี 2556-2558

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับลดลงตามผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวดีขึ้นและค่าใช้จ่ายเงินลงทุนที่ลดลง นอกจากนี้ บริษัทมีแผนปรับปรุงสถานะการเงินโดยจะนำ บริษัท ไทยยูเนี่ยนฟีดมอลล์ จำกัด (มหาชน) (TFM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์น้ำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2563 โดยภายหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ บริษัทจะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน TFM ลดลงจาก 66.9% มาอยู่ที่ 51% และบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการจดทะเบียนในตลาดฯ บางส่วนมาใช้ในการชำระหนี้ของบริษัท

เป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลกและมีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่หลากหลาย บริษัทเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีปริมาณการผลิตประมาณ 0.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าบรรจุกระป๋องทั่วโลก บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทะเลระดับโลก นอกเหนือจากปลาทูน่าแล้ว สินค้าอาหารทะเลของบริษัทยังประกอบไปด้วย กุ้ง ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแมคเคอร์เรลด้วย

การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ส่งผลให้บริษัทมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและมีอำนาจในการต่อรองกับผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบที่เหนือกว่าผู้ผลิตรายเล็ก ทั้งนี้ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทยังเพิ่มขึ้นจากความสามารถในการใช้ผลผลิตพลอยได้ เช่น การนำ ก้าง หนังปลา และน้ำมันปลา มาใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารกุ้ง และน้ำมันปลาทูน่าคุณภาพสูง

ในปี 2561 ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ามีสัดส่วนมากที่สุดในยอดขายของบริษัทโดยคิดเป็น 36% ของยอดขายรวม รองลงมาคือกุ้งแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (28%) ปลาแซลมอน (8%) อาหารสัตว์เลี้ยง (8%) ปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรล (7%) และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและอื่น ๆ (13%)

การกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ ทั้งในด้านฐานการผลิตและแหล่งรายได้ช่วยลดทอนความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัทลงได้บางส่วน บริษัทมีฐานการผลิตกระจายตัวอยู่ใน 13 ประเทศซึ่งครอบคลุม 4 ทวีป บริษัทยังมีการกระจายตัวของแหล่งรายได้ด้วยเช่นกัน โดยรายได้จากประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 38% ของรายได้รวมในปี 2561 รองลงมาคือตลาดยุโรป 31% ประเทศไทย 11% และประเทศญี่ปุ่น 6% ความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดจากโรคระบาด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบทางการค้า และกฎเกณฑ์การจับปลาทั่วโลกได้ในระดับหนึ่ง

สถานะที่แข็งแกร่งในทวีปยุโรปและตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและมีตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา Thai Union Europe (TUE) เดิมชื่อ MW Brands SAS เป็นเจ้าของตราสินค้าที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในยุโรปจำนวนมาก ได้แก่ John West, Petit Navire, Mareblu และ Parmentier

ปัจจุบัน John West มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับหนึ่งในสหราชอาณาจักร ประเทศไอร์แลนด์ และประเทศเนเธอร์แลนด์ ส่วนในด้านของยอดขายนั้น ในปี 2561 John West มีส่วนแบ่งทางการตลาด 37% ในสหราชอาณาจักร 66% ในประเทศไอร์แลนด์ และ 30% ในประเทศเนเธอร์แลนด์ อ้างอิงจากข้อมูลของ AC Neilsen ที่ทริสเรทติ้งได้รับจากผู้บริหารของ TUE นอกจากนี้ Petit Navire ยังเป็นอีกหนึ่งตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับเป็นอย่างดีซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 46% ในประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย

ในประเทศสหรัฐอเมริกา Chicken of the Sea เป็นปลาทูน่าบรรจุกระป๋องที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 3 มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระดับ 10% ในด้านของยอดขายปี 2561 อ้างอิงจากข้อมูลของ IRI report ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากฐานข้อมูลเดิมของ AC Neilsen ที่ทริสเรทติ้งได้รับจากผู้บริหารของ Thai Union North America ในขณะที่ Starkist เป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุด (48%) รองลงมาคือ Bumble Bee (24%)

ค่าใช้จ่ายพิเศษส่งผลให้กำไรของบริษัทอ่อนแอลง แม้ว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวดีขึ้น แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงจากค่าใช้จ่ายพิเศษจากการชดเชยในคดีความในประเทศสหรัฐอเมริกา

อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทอยู่ที่ระดับ 13%-16% ขึ้นอยู่กับต้นทุนราคาวัตถุดิบ สภาวะการแข่งขันและอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำมากในช่วงต้นปี 2561 และค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2561 ตลอดจนครึ่งแรกของปี 2562 อัตรากำไรที่ฟื้นตัวดีขึ้นมีสาเหตุจากต้นทุนที่ลดลงของปลาทูน่าและกุ้ง ซึ่งเป็นสินค้าหลักของบริษัท ตลอดจนการปรับราคาผลิตภัณฑ์ และการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.8% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562

อย่างไรก็ตาม กำไรของบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายพิเศษ ทั้งนี้ บริษัทย่อยของบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ตกลงจ่ายชำระค่าชดเชยให้แก่กลุ่มร้านค้าปลีก และลูกค้าหลายรายในสหรัฐอเมริกาภายใต้คดีต่อต้านการผูกขาด (Antitrust) บริษัทได้มีการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพิเศษเป็นมูลค่า 44.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.4 พันล้านบาท) ในปี 2561 และตั้งสำรองเพิ่มเติมมูลค่า 60.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.9 พันล้านบาท) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเหลือ 5.7% ในปี 2561 จนถึงครึ่งแรกของปี 2562 เทียบกับระดับ 7%-9% ในปี 2557-2560 กำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงอยู่ที่ระดับ 9.8 พันล้านบาทในปี 2561 และ 4.1 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 เทียบกับระดับประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2557-2560

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าผลกระทบเพิ่มเติมของรายการค่าใช้จ่ายพิเศษจะอยู่ในระดับที่ลดลง เนื่องจากบริษัทได้ตั้งสำรองค่าใช้จ่ายพิเศษภายใต้คดีต่อต้านการผูกขาดไปแล้วในระดับที่สูง ผลการดำเนินงานของบริษัทควรจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การควบคุมต้นทุน และปรับปรุงประสิทธิภาพทางการผลิต

ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2561 ในกรณีไม่มีการซื้อกิจการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ อัตรากำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 7%-8% ในปี 2562-2565 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จากระดับ 9.8 พันล้านบาทในปี 2561 ในขณะที่คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย จะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ในระดับ 5.6 เท่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

สภาพคล่องเพียงพอ ในช่วง 24 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีหนี้สินทางการเงินที่ครบกำหนดชำระประมาณ 3.5-6.0 พันล้านบาทต่อปี แหล่งที่มาหลักของเงินทุนในการชำระหนี้มาจากเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทปีละ 8.0-9.0 พันล้านบาท นอกจากนี้ สภาพคล่องยังมาจากเงินสดประมาณ 1.0 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 ตลอดจนวงเงินคงเหลือที่บริษัทมีกับสถาบันทางการเงินอีกหลายแห่ง

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทคาดว่าจะลดลง 2% ในปี 2562 และเพิ่มขึ้น 5% ต่อปีในช่วงปี 2563-2565

อัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าจะอยู่ในช่วง 15%-16% ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7%-8%

ค่าใช้จ่ายลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 5.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาดและการมีประสิทธิภาพในการผลิต

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจมีการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางตรงกันข้ามอันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมากหรือมีการลงทุนขนาดใหญ่จนส่งผลให้โครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดส่วนเกินเพื่อรองรับการชำระหนี้อ่อนแอลงกว่าที่คาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ