BTS ปรับขึ้น 1.50% โบรกฯมองรอลุ้นผลเจรจาสัมปทานสายสีเขียว เบื้องต้นมี upside ราว 0.7-1.40 บ./หุ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 20, 2019 10:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น BTS ราคาขยับขึ้น 1.50% มาอยู่ที่ 13.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 188.43 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.37 น. โดยเปิดตลาดที่ 13.30 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 13.60 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 13.30 บาท

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ถือ"หุ้น บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ด้วยราคาเป้าหมาย 13 บาท (SOTP) จาก 1) รอผลการเจรจาอย่างเป็นทางการสำหรับสัมปทานสายสีเขียว หากได้รับการต่อสัญญาสัมปทาน โดยประเมินเบื้องต้นจะมี upside ประมาณ 0.7-1.40 บาทต่อหุ้นขึ้นกับเงื่อนไขของสัมปทาน 2) โครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย เส้นทางบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) บางใหญ่-กาญจนบุรี มูลค่า (M81) มูลค่ารวม 39,138 ล้านบาท สำหรับงานออกแบบและดำเนินงานซ่อมบำรุง ซึ่งคาดจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และลงนามในต้นปีหน้า ประเมิน upside ราว 0.30 บาทต่อหุ้น และ BTS มีแผนเข้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure project) ใหม่ๆ เพิ่มเติมจากการเข้าประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกอยู่ระหว่างการตรวจสอบด้านเทคนิคและเหลือคู่แข่งเพียง 1 รายเท่านั้น

เมื่อวานนี้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการบริหารของ BTS เปิดเผยว่า การเจรจาระหว่างบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส กับคณะกรรมการ ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำสั่ง ม.44 นั้นได้ข้อยุติแล้ว โดยบริษัทยอมรับเงื่อนไขที่ กทม.กำหนดให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 65 บาท/เที่ยวสำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสถานีเคหะ-สถานีคูคต ระยะทาง 67 กม.จากที่ต้องเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง คิดเป็นกว่า 150 บาท/เที่ยว

รวมทั้ง บริษัทต้องรับหนี้ของ กทม.ที่รับโอนทรัพย์สินและภาระทางการเงินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงินรวมดอกเบี้ย 8 หมื่นล้านบาท และลงทุนระบบอาณัติสัญญาณในส่วนต่อขยายกว่า 2 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมการลงทุนเพิ่มขบวนรถไฟฟ้า ขณะที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยถึงระยะเวลาการขยายสัญญาสัมปทาน โดยการเจรจากับทางภาครัฐได้เสร็จสิ้นแล้ว เหลือแต่รอให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

บล.ทิสโก้ เห็นว่า การเจรจากับคณะกรรมการชุดนี้เป็นไปตามคำสั่งของ คสช. ที่ออก มาตรา 44 มาในช่วงเดือนเมษายน 2562 ซึ่งเป็นคนละชุดกับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) (กมธ.) ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่ก่อนหน้านี้มีมติไม่ขยายสัญญาสัมปทานให้กับทาง BTS ดังนั้น ยังคงต้องรอผลการพิจารณาและการอนุมัติจากทางคณะรัฐมนตรีว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งผลการเจรจานี้ยังต้องเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและให้คณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติต่อไป

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดเผยเงื่อนไขการเจรจาอย่างเป็นทางการ ทั้งเงื่อนไขด้าน 1) รูปแบบของภาระทางการเงินสำหรับภาระหนี้มูลค่า 1 แสนล้านบาท 2) ส่วนแบ่งรายได้ที่ให้กับทาง กทม. ว่าจะมีหรือไม่ รวมทั้งยังคงรอผลการเสนอครม.เพื่อทำการอนุมัติ

จึงมองว่าเงื่อนไขการเจรจาน่าจะออกมา ดังนี้ 1) ปรับสัญญารับจ้างเดินรถ (O&M) เป็น PPP Net Cost 2) ขยายสัมปทาน 30 ปีไปถึงปี 2060 3) ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท และปรับค่าโดยสารขึ้นทุก 2 ปีตาม CPI แต่ผิดคาดในแง่ของการรับภาระหนี้ 1 แสนล้านบาทจาก กทม. ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทเปิดเผยว่ามีแนวโน้มที่จะไม่รับภาระหนี้ เนื่องจากเป็นภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูง จะทำให้ Interest Bearing Debt/Equity ของบริษัทเพิ่มขึ้นไปที่ 0.6x จากปัจจุบัน 0.3x โดยได้ทำการประเมินเบื้องต้นหากเงื่อนไขเป็นไปดังนี้จะมี upside ต่อ BTS ราว 0.7-1.40 บาทต่อหุ้นขึ้นกับรูปแบบของภาระทางการเงิน ระยะเวลาการจ่ายชำระหนี้และการบริหารความสามารถในการทำกำไรของ BTS


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ