KBANK เผยกำไรสุทธิ Q3/62 โตจาก Q2/62 เล็กน้อยทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยและไม่ใช่ดอกเบี้ย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 21, 2019 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/62 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/62 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 9,951 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนจำนวน 22 ล้านบาท หรือ 0.23% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 326 ล้านบาท หรือ 1.27% โดยมีอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.34% รวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 2,139 ล้านบาท หรือ 15.68% ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยในไตรมาสนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.52% อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 3/62 ยังไม่มีแรงหนุนเข้ามามากนัก ซึ่งเป็นภาพต่อเนื่องจากที่เศรษฐกิจเติบโตประมาณ 2.30% ในไตรมาส 2/62 โดยแม้เศรษฐกิจในไตรมาส 3/62 แรงหนุนจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว แต่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวหลัก ทั้งการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัว สอดคล้องกับการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยืดเยื้อของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความกังวลต่อความเสี่ยงเกี่ยวกับการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี ทิศทางเศรษฐกิจไทยอาจได้รับแรงหนุนมากขึ้นจากมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

ส่วนวด 9 เดือนแรกของปี 62 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 29,924 ล้านบาท ลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1,502 ล้านบาท หรือ 4.78% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 4,051 ล้านบาท หรือ 5.54% ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยรับของเงินให้สินเชื่อและเงินลงทุน ทำให้ NIM อยู่ที่ระดับ 3.34% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 2,753 ล้านบาท หรือ 6.20% ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากการรับประกันภัยลดลง และการยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัล ในขณะที่รายได้จากการจำหน่ายหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นจำนวน 2,684 ล้านบาท หรือ 5.49% ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.41% ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้สอดคล้องกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

ณ วันที่ 30 ก.ย.62 ธนาคารและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,240,134 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 61 จำนวน 85,043 ล้านบาท หรือ 2.70% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิและเงินให้สินเชื่อ สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.53% ขณะที่สิ้นปี 61 อยู่ที่ระดับ 3.34% อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) อยู่ที่ 153.58% โดยสิ้นปี 61 อยู่ที่ระดับ 160.60% อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารตามเกณฑ์ Basel III อยู่ที่ 19.10% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.76%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ