SCC คาดยอดขายปีนี้ลดลง 8% ธุรกิจปิโตรเคมีเป็นวัฎจักรขาลงต่อเนื่องปี 63, กรณีสหรัฐฯตัด GSP กระทบน้อยมาก

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday October 28, 2019 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า แนวโน้มยอดขายปีนี้ลดลง 8% จากระดับ 4.78 แสนล้านบาทในปีที่แล้ว หลังในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ยอดขายลดลง 8% จากราคาสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวกระทบต่อความต้องการใช้ อีกทั้งเป็นไปตามวัฎจักรขาลงของธุรกิจปิโตรเคมีที่เริ่มตั้งแต่ปีนี้และน่าจะต่อเนื่องถึงปี 63 จากอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยยังไม่สามารถระบุถึงช่วงเวลาสิ้นสุดของวัฎจักรดังกล่าวได้

"ธุรกิจเคมิคอลยังไม่เห็นสัญญาณที่จะดีขึ้น ที่เห็นตอนนี้ กำลังการผลิตที่จะขึ้นมาสูงขึ้น มาเลย์ ถัดมาอินเดีย ถัดมาจีน เบ็ดเสร็จคงหลายปี ปกติโดยส่วนใหญ่ปีหนึ่งกำลังการผลิตเอทิลีน คร่าวๆ จะอยู่ที่ 4-6 ล้านตัน แต่ปีหน้าคิดว่าจะขึ้นมาค่อนข้างใกล้เคียง 10 ล้านตัน ซึ่งขึ้นมาค่อนข้างมาก ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะเยอะกว่าเดิม จึงพูดได้ว่าเป็น low cycle อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ดีมาต่อเนื่องหลายปี ก็ถึงช่วงที่จะลงก็จะลงค่อนข้างแรง ตอนนี้ยังมองไม่ออก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นเรื่องดีมานด์ด้วย ซึ่งดีมานด์ของเคมีภัณฑ์เป็นดีมานด์ที่เกี่ยวกับตลาดโลก ถ้าถามว่าดีมานด์ตลาดโลกตอนนี้เป็นอย่างไร คิดว่ายาก ไม่ว่ากูรูไหนจะพูดได้ เพราะมีทั้งปัจจัยเศรษฐกิจ และการเมือง"นายรุ่งโรจน์ กล่าว

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจวัฎจักรขาลงของปิโตรเคมีเกิดขึ้นมาแล้ว ในช่วงปี 2545 ที่เป็นวัฏจักรขาลงของธุรกิจ และปี 2551 ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และซับไพร์มทำให้ธุรกิจปิโตรเคมีได้รับผลกระทบด้วย ส่วนในปี 2555 เป็นวัฎจักรขาลงของธุรกิจ ส่วนรอบนี้นับว่าเพิ่งเริ่มในปีนี้ที่ระดับมาร์จิ้นถือว่าเป็นวัฏจักรขาลงแล้ว

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ธุรกิจปิโตรเคมีนับว่ามีสัดส่วนกำไรสูงที่สุด 53% ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 19% ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง 17% ที่เหลือเป็นอื่น ๆ 11% โดยธุรกิจปิโตรเคมีที่อยู่ในช่วงวัฎจักรขาลง และเงินบาทที่แข็งค่า ฉุดให้ผลประกอบการของเอสซีจี ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ทำกำไรสุทธิได้เพียง 2.49 หมื่นล้านบาท ลดลง 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมียอดขายรวม 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับในช่วงไตรมาส 4/62 ธุรกิจปิโตรเคมีมาร์จิ้นยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลงจากไตรมาส 3 ที่ส่วนต่าง (สเปรด) ราคาผลิตภัณฑ์ HDPE และแนฟทา ซึ่งเป็นวัตถุดิบอยู่ที่ 457 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยราคาผลิตภัณฑ์และต้นทุนยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง สงครามการค้า ทำให้ราคาน้ำมันและแนฟทามีความผันผวนสูง ขณะที่ความต้องการใช้ยังมีการเติบโตในระดับต่ำ แต่เอสซีจียังวางกลยุทธ์สำหรับธุรกิจนี้ด้วยการมุ่งเน้นวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก

ส่วนธุรกิจซีเมนต์ คาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุน้ำท่วม ทำให้การก่อสร้างชะลอตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/62 ที่ตลาดซีเมนต์ในประเทศหดตัวราว 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ฉุดให้ช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ตลาดซีเมนต์เติบโตได้ราว 2% เท่านั้น ทำให้คาดว่าทั้งปี 62 ความต้องการใช้ซีเมนต์ในประเทศน่าจะเติบโตได้เพียง 1-2% ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่เคยคาดว่าจะเติบโตได้ราว 3-4% ในปีนี้ ขณะที่ยังได้ปัจจัยบวกจากโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนตลาดซีเมนต์ในอาเซียนนั้น ตลาดยังเติบโตมาก โดยเฉพาะในกัมพูชาและเวียดนาม ส่วนในเมียนมาและลาว ก็นับว่ายังมีการเติบโตอยู่ โดยกลยุทธ์สำหรับธุรกิจนี้จะยังมุ่งเน้นการรุกธุรกิจค้าปลีก และจัดจำหน่ายให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงนวัตกรรมสินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ในทุกช่องทางและหลากหลายโซลูชั่น

สำหรับธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ตลาดยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเอสซีจีนับว่าเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ของอาเซียน ทำให้มองเห็นถึงศักยภาพที่โดดเด่น จึงได้วางแผนจะนำธุรกิจดังกล่าวภายใต้ บมจ.เอสซีจี แพจเกจจิ้ง (SCGP) เข้าตลาดหุ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสร่วมลงทุนในธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อไปในอนาคต เพื่อระดมทุนมาใช้ขยายธุรกิจแพ็กเกจจิ้งทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีความพร้อมรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต โดยเอสซีจีจะยังคงถือหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 70% จากปัจจุบันถือราว 99% อย่างไรก็ตามการนำหุ้น SCGP เข้าตลาดยังไม่สามารถระบุช่วงเวลาได้ แต่จะต้องพิจารณาสภาพภาวะตลาดหุ้นควบคู่กันไปด้วย

นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า แผนการลงทุนของเอสซีจีนั้น ยังคงเดินหน้าก่อสร้างโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม แม้ปัจจุบันธุรกิจปิโตรเคมีจะเผชิญกับวัฎจักรขาลง แต่ในด้านพื้นฐานการลงทุนโครงการดังกล่าวนับว่าเป็นโครงการที่ดี เพราะในเวียดนามไม่มีธุรกิจผลิตปิโตรเคมี ขณะที่ตลาดค่อนข้างดี เพราะเวียดนามมีการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้ธุรกิจปิโตรเคมีจะมีการเติบโตสูง โดยการก่อสร้างปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วราว 24% และจะแล้วเสร็จในปี 2565

ส่วนการลงทุนในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น ในระยะสั้น 1 ปี ยังไม่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ส่วนในระยะยาว จะเป็นการลงทุนสินค้าขั้นปลายที่ใกล้เคียงกับสินค้าของกลุ่มลูกค้า เช่น ธุรกิจเคมีภัณฑ์อาจจะเป็นสินค้าที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ และอาจจะมีการลงทุนด้านบริการใน EEC เพราะมีงานก่อสร้างมากขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว ก็เป็นโอกาสที่จะสร้างมูลค่าในส่วนนี้ให้ดีขึ้น

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน เอสซีจี กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่นำ SCGP เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เพราะเห็นถึงศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในอาเซียน จึงได้ศึกษาแผนการเพิ่มทุนเพื่อนำไปขยายงานในอนาคต ขณะที่ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมายอดขายของธุรกิจแพ็กเกจจิ้งเติบโตราว 10-20% ซึ่งนับว่าเติบโตค่อนข้างมากตามการซื้อกิจการที่มีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนกรณีที่สหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) แก่สินค้าบางรายการของไทย ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 25 เม.ย.63 นั้น ในส่วนของเอสซีจีได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากส่งสินค้าไปขายที่สหรัฐน้อยกว่า 5% ของการส่งออกเท่านั้น อีกทั้งสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์ที่ส่งออกไปก็ไม่ได้อยู่ในรายชื่อของสินค้า GSP ขณะที่ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างก็ส่งออกไปไม่มาก ส่วนแพ็กเกจจิ้งอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง เพราะสินค้าทุกอย่างที่ส่งไปสหรัฐฯ จะมีส่วนของแพ็กเกจจิ้งประกอบด้วย ทำให้ได้รับผลกระทบทางอ้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ