ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ THAI ที่ "A" เปลี่ยนแนวโน้มเป็น "Negative" จาก "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 29, 2019 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. การบินไทย (THAI) ที่ระดับ "A" พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Negative" หรือ "ลบ" จาก "Stable" หรือ "คงที่" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1.0 หมื่นล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "A" แนวโน้มอันดับเครดิต "ลบ" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนดและใช้ในการลงทุน

อันดับเครดิตได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทซึ่งสะท้อนถึงความคาดหวังว่าภาครัฐจะช่วยสนับสนุนบริษัทเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำของบริษัทในธุรกิจการบินระหว่างประเทศในเส้นทางการบินของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากการที่บริษัทมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นตามแผนการจัดหาเครื่องบินและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นความเสี่ยงปกติในธุรกิจสายการบิน

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

อันดับเครดิตได้รับการสนับสนุนจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

ปัจจัยหลักที่สนับสนุนอันดับเครดิตของบริษัทการบินไทยคือการมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 51% ทริสเรทติ้งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่รัฐบาลจะยังคงสนับสนุนทางการเงินให้แก่บริษัทอย่างต่อเนื่องและทันการณ์เมื่อบริษัทต้องการความช่วยเหลือ ดังจะเห็นได้จากในอดีตเมื่อบริษัทเผชิญความยากลำบากทางการเงิน บริษัทมีสถานะเป็นสายการบินแห่งชาติซึ่งให้บริการเส้นทางการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยใช้กรุงเทพมหานครเป็นฐานการบินหลัก งบประมาณและแผนการลงทุนของบริษัทต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

การแข่งขันที่รุนแรงยังคงกดดันรายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตร

ทริสเรทติ้งคาดว่าการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการบินจะยังคงอยู่ต่อไปซึ่งจะจำกัดความสามารถของบริษัทในการปรับปรุงรายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตร (Passenger Yield) จากระดับปัจจุบัน ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทไม่สามารถปรับราคาตั๋วเพิ่มขึ้นได้เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างสายการบินทั้งสายการบินเต็มรูปแบบและสายการบินต้นทุนต่ำ ส่งผลให้รายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรของบริษัทลดลงเป็น 2.18 บาทต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 เปรียบเทียบกับระดับ 2.23 ต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างสายการบินจะยังคงมีอยู่ต่อไปซึ่งจะจำกัดความสามารถของบริษัทในการเพิ่มราคาตั๋วค่าโดยสาร ดังนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 2.18 บาทต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตร ถึง 2.21 บาทต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรในช่วงปี 2562-2564

ความสามารถในการทำกำไรได้รับผลกระทบจากต้นทุนการดำเนินงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงที่สูงและรายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรที่ลดลงแต่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 แม้ว่าต้นทุนเชื้อเพลิงจะลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่อัตรากำไรจากการดำเนินงานปรับลดลงเป็น 10.8% จาก 18.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงเนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นประกอบกับรายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรลดลง โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ต้นทุนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงต่อที่นั่ง-กิโลเมตร (กม.) อยู่ที่ 1.57 บาท เทียบกับ 1.49 บาทต่อที่นั่ง-กม. ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยภายใต้แผนการลดค่าใช้ค่าใช้จ่าย ต้นทุนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงต่อที่นั่ง- กม. คาดว่าจะค่อย ๆ ปรับลดเป็นประมาณ 1.54 บาทต่อที่นั่ง-กม. ในระหว่างปี 2563-2564 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าราคาเฉลี่ยของน้ำมันเครื่องบินจะอยู่ที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรลในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตามสมมติฐานดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวอยู่ในระดับ 15% ถึง 17% ในช่วงปี 2563-2564 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วน 30% ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้น การเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาเชื้อเพลิงจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัท

การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารจะอยู่ระหว่าง 75%-80% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรตติ้งเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องและจะช่วยสนับสนุนอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็น 23.06 ล้านคน ทั้งนี้ หากอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารยังคงอยู่ระหว่าง 75%-80% และรายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรอยู่ในระดับคงที่จะส่งผลให้รายได้ของบริษัทอยู่ระหว่าง 1.95 แสนล้านบาท ถึง 2.00 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2563-2564

ภาระหนี้จะสูงขึ้นเพื่อใช้ในการลงทุน

ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า จากแผนการของบริษัทที่จะจัดหาเครื่องบินจำนวนขั้นต่ำ 25 ลำในช่วงปี 2563-2568 ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดหาโดยการใช้ภาระหนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.55 แสนล้านบาทในปี 2564 จาก 2.38 ล้านบาทในปี 2561 ทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับประมาณ 35.5 หมื่นล้านบาทในปี 2564 เมื่อเทียบกับระดับ 22.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วควรจะค่อย ๆ ปรับลดลงจากระดับ 10.4 เท่าในปี 2561 เป็น 7.1 เท่าในปี 2564 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่สูงกว่า 90% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 3 เท่าในช่วง 2 ปีข้างหน้า ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงของบริษัทเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องปรับปรุงในด้านความเสี่ยงทางการเงินของบริษัท ทริสเรทติ้งยังคงเชื่อว่าภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นหากบริษัทเผชิญสถานการณ์ความยุ่งยากทางการเงิน

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ

ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาแหล่งเงินสำรองที่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้และเพื่อใช้รองรับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงต่าง ๆ ในอนาคต โดยแหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 1.32 หมื่นล้านบาท และวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวน 2.00 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 ทั้งนี้ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ระหว่าง 1.5 หมื่นล้านบาท บริษัทยังมีแผนจะออกหุ้นกู้มูลค่ารวม 1.0 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ชำระหนี้เงินกู้ที่จะครบกำหนดและใช้ในการลงทุน โดยแหล่งเงินทุนเหล่านี้จะเพียงพอต่อแผนการใช้จ่ายของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีภาระที่จะต้องชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนจำนวน 1.9 หมื่นล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2562 บริษัทมีภาระหนี้ระยะสั้นจำนวน 5 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีงบลงทุนปกติ (ไม่รวมการซื้อเครื่องบิน) ประมาณ 5.5 พันล้านบาทในปี 2563 อีกด้วย

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

สมมติฐานพื้นฐานและการคาดการณ์สำหรับปี 2562-2564 มีดังนี้

รายได้ประจำปีจะลดลง 5% ในปี 2562 และปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ในปี 2563 และ 2564

อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารจะอยู่ระหว่าง 75%-80%

รายได้ค่าโดยสารต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรอยู่ระหว่าง 2.18 บาทต่อผู้โดยสารต่อกม. ถึง 2.21 บาทต่อผู้โดยสารต่อกม.

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นเป็น 15%-17%

ราคาเฉลี่ยของน้ำมันเครื่องบินจะอยู่ที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาเรล

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนตัวลงเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสายการบินและผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าประสิทธิภาพการดำเนินงานในระดับต่ำของบริษัทจะยังคงอยู่ต่อไปและเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบผลการดำเนินงานของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากอัตราการทำกำไรอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่องและไม่มีการปรับลดภาระหนี้จำนวนมาก หรือหากมีสัญญานทางลบที่ส่งผลให้ทริสเรทติ้งเปลี่ยนความเชื่อในด้านการสนับสนุนจากรัฐบาล แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 5-6 เท่าอย่างต่อเนื่อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ