PPPM เตรียมแผนเคลียร์หนี้หุ้นกู้รอบถัดไป 200 ลบ. พร้อมมองผลงานปีนี้อาจขาดทุนต่อเนื่องปีที่ 3 จากค่าใช้จ่ายสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 31, 2019 08:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวรุณ อัตถากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พีพี ไพร์ม (PPPM) เปิดเผยว่า ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง ภายหลังจากที่บริษัทมีกำหนดต้องชำระเงินให้กับผู้ถือหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนอีกจำนวน 3 รุ่น ประกอบด้วย รอบแรกคือหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2561 (TLUXE205A) จำนวน 200 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 8 พ.ค.63 , รอบถัดไปคือหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2561 รุ่น TLUXE198A จำนวน 319.50 ล้านบาท ที่เลื่อนชำระออกไปเป็นวันที่ 2 ก.ค.63 และรอบสุดท้ายเป็นหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 (PPPM213A) จำนวน 207.60 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 18 มี.ค.64

สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในชุดแรกจำนวน 200 ล้านบาทนั้น เบื้องต้นบริษัทศึกษาการชำระหนี้ไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางแรกคือการนำกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินกิจการในปัจจุบันมาชำระหนี้หุ้นกู้ ,แนวทางที่ 2 การรีไฟแนนซ์ โดยใช้วิธีการกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือแหล่งเงินทุนอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำมาชำระคืนทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เนื่องจากช่วงนี้แนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาลง เชื่อว่าในกรณีถ้ากู้เงินรอบใหม่มีโอกาสได้รับดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเดิม แม้ว่าปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน แต่บริษัทยังมีสินทรัพย์ที่เป็นมูลค่าเพียงพอต่อการค้ำประกันเงินกู้ชุดใหม่ และแนวทางที่ 3 คือตัดขายสินทรัพย์หรือธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็นออกไป

นายวรุณ กล่าวว่า สำหรับทิศทางผลประกอบการในปี 62 ยังมีโอกาสขาดทุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและเงินลงทุนยังเป็นสัดส่วนสูงกว่ารายได้ แม้ว่าธุรกิจอาหารสัตว์น้ำและสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักยังเติบโตได้ดี โดยปีนี้คาดมีรายได้เฉลี่ยราว 2 พันล้านบาท หรือเติบโต 3-5% ต่อปี และมีศักยภาพทำกำไรสูงขึ้น เพราะได้รับอานิสงส์จากเงินบาทแข็งค่าและนำเข้าวัตถุดิบหลักอย่างถั่วเหลืองที่มีราคาถูกลงจากผลของสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ

แต่ปัจจุบันบริษัทยังมีค่าใช้จ่ายจากการลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน Geothermal ในประเทศญี่ปุ่น เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มบันทึกรายได้เข้ามาในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีจำนวน 12 โครงการ ในกรณีทุกโครงการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้เรียบร้อย จะรับรู้เป็นรายได้รวมกว่า 140 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยโครงการละ 12 ล้านบาทต่อปี เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญช่วยผลักดันผลประกอบการของบริษัทพลิกกลับมาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

"ผมขอใช้เวลา 1 ปีกวาดล้างบ้านให้สะอาดก่อน แม้ว่าระยะสั้นจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่เราก็พยายามปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้มีความเหมาะสมทั้งช่วงเวลาและอัตราดอกเบี้ยที่บริษัทสามารถชำระได้โดยไม่เกิดปัญหา จากปัจจุบันบริษัทมีดอกเบี้ยต้องชำระปีละ 60-90 ล้านบาท ด้านธุรกิจหลักผลิตอาหารสัตว์เรามองว่ามีโอกาสเติบโตและมีศักยภาพทำกำไรที่ดี ขณะเดียวกันยังมองแนวทางลดต้นทุนในหลายๆด้าน อาทิ พลังงานหรือขนส่ง เป็นต้น ถ้าเป็นไปตามแผนเราก็คาดหวังเช่นกันว่าในปี 63 ทุก ๆ อย่างจะเริ่มกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง"นายวรุณ กล่าว

นายวรุณ อัตถากร เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหารมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป แทนการลาออกของ พลเอกเชาวฤทธิ์ ประภาจิตร์ จากตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร รองประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร นอกจากนี้แต่งตั้ง นายประวีณ ดีขจรเดช เข้าดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสายบัญชีและการเงิน มีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ