IRPC ตั้งงบลงทุนปี 63 ที่ 8.5 พันลบ.เล็งสรุป 2 ดีล M&A,ยันเดินหน้าโครงการ MARS แต่เปิดทางพันธมิตรตปท.ร่วม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 12, 2019 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุนปี 63 ที่ระดับ 8.5 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ราว 4 พันล้านบาทจะใช้ลงทุนโครงการ Utra Clean Fuel Project (UCF) รองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ที่จะเริ่มก่อสร้างปลายปี 63 แล้วเสร็จในไตรมาส 4/65 และใช้เพื่อบำรุงรักษาโรงงานตามปกติราว 2.0-2.5 พันล้านบาท เป็นต้น โดยในส่วนนี้ยังไม่รวมงบลงทุนสำหรับการทำดีลซื้อกิจการและร่วมลงทุน (M&A) อีกราว 3-4 พันล้านบาท/ปี ซึ่งในปี 63 คาดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างน้อย 2 ดีล

สำหรับโครงการ M&A ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บริษัทต่างประเทศที่ทำธุรกิจเม็ดพลาสติกพีพี คอมพาวด์ (PP Compound) รองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีและการตลาด คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/63 ซึ่งหากบริษัทได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทดังกล่าวก็จะทำให้มีโอกาสนำเทคโนโลยีมาใช้สำหรับผลิตในโรงงานโพลีโพรพิลีน (PP) ของบริษัทเพื่อต่อยอดธุรกิจ และยังมีโอกาสขยายตลาดในกลุ่มยานยนต์ในประเทศด้วย

ส่วนอีกกลุ่มเป้าหมายของการทำ M&A จะอยู่ในกลุ่มธุรกิจปลายน้ำของปิโตรเคมี ซึ่งจะช่วยต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ในปีหน้าเช่นเดียวกัน

ด้านความคืบหน้าโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (Maximum Aromatics Project :MARS) ที่จะมีการผลิตพาราไซลีน (PX) 1.3 ล้านตัน/ปี และเบนซีน 5 แสนตัน/ปี มูลค่าราว 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น แม้สถานะปัจจุบันจะชะลอการลงทุนเพราะสภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยจากสงครามการค้า แต่บริษัทก็จะยังเดินหน้าโครงการต่อไป โดยอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แต่จะไม่เร่งรีบหาผู้รับเหมาจากแผนเดิมที่จะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในปีนี้

พร้อมกับจะดำเนินการปิดความเสี่ยงด้านการตลาดด้วยการหาพันธมิตรต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุน โดยจะเป็นพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งช่วยหาตลาดให้กับโครงการ รวมถึงเจรจากับบริษัทในกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) เพื่อสร้างพลังร่วมในการจัดหาวัตถุดิบ คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2/63 และจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในต้นปี 64 ก่อนจะเริ่มก่อสร้าง และแล้วเสร็จในไตรมาส 2/68

นายนพดล กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ของบริษัทหลังจากนี้จะยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและนวัตกรรมมาตอบโจทย์ลูกค้า เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดทั้งคุณภาพและบริการ พร้อมจัดกระบวนการทำงานภายในใหม่ รวมศูนย์ทั้งฝ่ายขายและฝ่ายวิจัยให้สามารถดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพสูงและรวดเร็วขึ้น ช่วยเสริมความสามารถการแข่งขันเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialties) ได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทได้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และลดความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) จากที่ปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมากจากสงครามการค้า ทำให้ความต้องการใช้สินค้าชะลอตัวลง ขณะที่ยังมีปริมาณการผลิตใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนกำไรราว 60% มาจากธุรกิจปิโตรเคมี และอีกกว่า 30% มาจากธุรกิจปิโตรเลียม ส่วนที่เหลืออีกราว 10% มาจากธุรกิจสาธารณูปโภค และในอนาคตก็ยังมองว่าสัดส่วนกำไรดังกล่าวยังอยู่ระดับที่เหมาะสม เพราะธุรกิจปิโตรเคมียังเติบโตได้ตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว แต่จะปรับปรุงภายในของพอร์ตธุรกิจ อย่างธุรกิจปิโตรเคมี ก็จะเพิ่มการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษในปี 63 เป็นระดับ 60% จาก 55% ในปีนี้ ซึ่งจะผลักดันให้มีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจปิโตรเลียม แม้จะเผชิญกับทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต แต่คงยังไม่ใช่ในระยะสั้น ขณะที่การใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเครื่องบินก็ยังมีอยู่ต่อเนื่อง รวมถึงก็จะสร้างความแข็งแรงภายในด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางมะตอยเกรดพิเศษมากขึ้น

นายนพดล กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/62 มองว่าธุรกิจยังมีทิศทางบวก หลังจากไตรมาส 3/62 ผลดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 1.32 พันล้านบาท เนื่องจากมองว่าธุรกิจปิโตรเลียมดีขึ้น จากเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 จะผลักดันให้มีการใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำมากขึ้น ซึ่งบริษัทมีการผลิตอยู่ 5.2 หมื่นตัน/เดือน จากกำลังการผลิตรวม 6 หมื่นตัน/เดือน โดยวางเป้าหมายขายในประเทศ 65% และส่งออก 35% ขณะเดียวกันก็จะผลักดันให้มีการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปผสมกับน้ำมันเตาเพื่อให้มีกำมะถันต่ำลง ซึ่งโรงกลั่นของบริษัทสามารถกลั่นน้ำมันดีเซลได้ในสัดส่วนราว 50%

ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่าราคาผลิตภัณฑ์น่าจะยังแกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากยังถูกกดดันจากสงครามการค้า แต่ก็เริ่มมองเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากเพราะยังต้องขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งจะมีผลต่อความต้องการใช้ อย่างไรก็ตามยังมีปริมาณการผลิตใหม่จากจีนและภูมิภาคเข้ามา ขณะที่ยังรอดูความต้องการใช้จากช่วงตรุษจีนที่มาเร็วขึ้นในปี 63 จะเข้ามาช่วยกระตุ้นความต้องการใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

นายนพดล กล่าวว่า ทิศทางราคาน้ำมันดิบ ดูไบ ในปี 63 คาดว่าจะเคลื่อนไหวระดับ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 61 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในปีนี้ รวมถึงน้ำมันสำเร็จรูปมีทิศทางที่ดีขึ้น จากปัจจัยหนุนของเกณฑ์ใหม่ IMO ที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเตากำมะถันต่ำ และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเมินค่าการกลั่นพื้นฐาน (Market GRM) ในปี 63 น่าจะดีขึ้นจากปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ