นักวิชาการ หนุนเพิ่มช่องทางระดมเงินใหม่หนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ชูไอเดียผู้ปล่อยกู้มีส่วนร่วมธุรกิจช่วยลดความเสี่ยง

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 17, 2019 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรุ่งเกียรติ รัตนบานชื่น อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน SEC Capital Market Symposium 2019 ในหัวข้อเจาะลึกการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทยในระบบการเงิน" ว่า อันดับทางด้านการเงินของประเทศไทยจากการจัดอันดับของ World Economic Forum (WEF) อยู่ในอันดับที่ 16 จาก 140 ประเทศทั่วโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 4 ของภูมิภาค ASEAN+3 ซึ่งลดลงจากปีก่อนที่อยู่อันดับ 3 เนื่องจากระบบการเงินของประเทศมาเลเซียถูกปรับขึ้นมาแซงประเทศไทย ขณะที่ไทยยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับด้านเครดิตบูโรที่ดี และช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังมีจำกัด

สิ่งที่เป็นปัญหาหลักของประเทศไทยในการสนับสนุนภาคธุรกิจเป็นเรื่องแหล่งเงินทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีสัดส่วนมากในประเทศกว่า 3 ล้านราย หรือคิดเป็น 99.79% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอยู่ไนประเทศเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เพราะช่องทางของแหล่งเงินทุนในประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียง 2 ช่องทางในปัจจุบัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ และไมโครไฟแนนซ์ ถือว่ามีช่องทางที่น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่เอสเอ็มอีที่เข้าถึงแหล่งทุนได้มากจะอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่เอสเอ็มอีในต่างจังหวัดยังมีสัดส่วนมากที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ภาครัฐได้ใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐในการกระจายการให้สินเชี่อกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดมากขึ้น ทำให้เริ่มเห็นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเริ่มสามารถมีสินเชื่อรองรับการดำเนินธุรกิจต่อไปได้มากขึ้น แต่ก็มองว่าประเทศไทยยังต้องพยายามหาช่องทางของแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ มาเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อปิดช่องว่างของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มเอสเอ็มอีในประเทศให้ลดลง อย่างเช่น การพัฒนาตัวเลือกของแหล่งเงินทุนใหม่ออกมาเพิ่มเติม นอกเหนือจากการระดมทุนผ่านการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอาจจะเพิ่มการใช้มูลค่าสินทรัพย์ในการใช้เป็นแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือในการสร้างแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ เพิ่มแบบผสมให้ผู้ให้สินเชื่อมีส่วนร่วมในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (Participation Loan) ทำให้ผู้ให้สินเชื่อสามารถทราบถึงแนวโน้มของธุรกิจว่าดำเนินไปอย่างไร ซึ่งทำให้ผู้ให้กู้มีความมั่นใจมากขึ้น เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้การพิจารณาให้สินเชื่ออาจจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และการที่ผู้ให้กู้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับธุรกิจสามารถที่จะติดตามและคอยช่วยเหลือธุรกิจได้ ทำให้มีความเสี่ยงลดลง ขณะที่การพิจารณาสินเชื่อแบบ Relationship Base สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ใช้การพิจารณาสินเชื่อแบบ Transaction Base ในการคำนวณ Credit Scrolling แต่การพิจารณาสินเชื่อแบบ Relationship Base เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา แต่หากภาครัฐมีการพัฒนา National Information Bureau อย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยให้ช่องทางการพิจารณาสินเชื่อให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีแบบ Relationship Base มีความรวดเร็วและมีความเชื่อถือมากขึ้น

ทั้งนี้ มองว่าปัจจุบันเอสเอ็มอียังมีปัญหาในด้านความเข้าใจด้านการเงินที่ดี ทำให้เวลาที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไปคุยกับธนาคารจะไม่เข้าใจเหตุผลของธนาคารที่อธิบายให้ฟัง ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกคนต้องมีการเรียนรู้เกี่ยวกับงบการเงินให้เข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อสามารถบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเข้าใจถึงความเป็นไปได้ของในการขอสินเชื่อ เพื่อที่จะรู้สถานะของธุรกิจตนเอง และสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องของธุรกิจเพื่อทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ โดยที่ธุรกิจเอสเอ็มถือว่ามีความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุดกว่า 13.9 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 85.97% จากแรงงานในระบบที่ 15 ล้านคน และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ 43% ซึ่งหากมีการสนับสนุนภาคเอสเอ็มอีมากขึ้น จะส่งผลให้เอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้โตได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ