กบข.วางเป้าลงทุนปี 63 เพิ่มพอร์ต ตปท.ลดความเสี่ยงผลตอบแทนผันผวน พร้อมดันสู่กองทุนบำนาญยั่งยืน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 20, 2019 09:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการ คณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข.วางเป้าหมายการลงทุนในปี 63 โดยจะเพิ่มพอร์ตการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ทั้งในส่วนของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เป็นสัดส่วน 17-18% จาก 13% ของเงินในส่วนของสมาชิก กบข. 400,000 ล้านบาทในปัจจุบัน เนื่องจากกองทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างทรงตัวไม่แกว่งตัวมาก ทำให้ช่วยลดความเสี่ยงความผันผวนเรื่องของผลตอบแทน จากปัจจุบันที่ภาวะตลาดหุ้นไทยร่วงลงทำให้ได้รับผลตอบแทนต่ำ ขณะที่ผลตอบแทนของตราสารหนี้ยังอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก

สัดส่วนการลงทุนของ กบข.ปัจจุบัน แบ่งเป็น การลงทุนในตราสารหนี้ 65% ,การลงทุนในหุ้น 18-20% โดยอยู่ในหุ้นไทยประมาณ 7% ,หุ้นในตลาดเกิดใหม่ประมาณ 7% และหุ้นในตลาดพัฒนาแล้วประมาณ 3% ส่วนที่หลือจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกโดยเฉพาะในต่างประเทศ

ปัจจุบัน กบข. มีจำนวนสมาชิกในระบบประมาณ 1.1 ล้านคน และมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิประมาณ 950,000 ล้านบาท โดยในปี 63 คาดว่าจำนวนสมาชิกจะมีจำนวนใกล้เคียงกับปีนี้ ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างผลตอบแทนได้ประมาณ 5.3% และสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีผลตอบแทนอยู่ที่ราว 5% ส่วนปี 63 คาดว่าผลตอบแทนจะอยู่ที่ราว 4-5%

นายวิทัย กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินงานปี 63 กบข.ยังจะมุ่งสู่การเป็นกองทุนบำนาญยั่งยืน (Sustainable Pension) ภายใต้ 2 เป้าหมายหลัก คือ สมาชิกมีเงินออมเมื่อเกษียณที่เพียงพอ (Sufficient Retirement Saving) และสังคมมีความยั่งยืน (Social Sustainability)

ทั้งนี้ เป้าหมายสมาชิกเงินออมเมื่อเกษียณที่เพียงพอ (Sufficient Retirement Saving) กบข.ได้กำหนดเกณฑ์เทียบวัดมาตรฐาน (Benchmark) ไว้ว่า สมาชิก กบข.ควรเกษียณโดยมีเงินออม ณ เกษียณคิดเป็น 80% ของเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ ซึ่งกบข.ได้ตั้งเป้าปีแรกมีสมาชิกที่ทำได้ไม่ต่ำกว่า 10% หรือ 100,000 คน ที่ต้องออมเพิ่ม และเลือกแผนลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมากเมื่อเทียบกับยอดสมาชิกออมเพิ่ม และเลือกแผนลงทุนสะสม 12 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ โดยมีจำนวนรวมกันน้อยกว่าจำนวนเป้าหมายดังกล่าว

"เราพยายามทำให้ กบข.เป็นกองทุนบำนาญที่มีความยั่งยืน หรือ Sustainable Pension ซึ่งคำว่ายั่งยืนของเราจะดูทั้ง 2 ด้าน คือ สมาชิกเองก็ต้องมีความยั่งยืน ซึ่งเราก็เป็นกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ และหวังว่าสมาชิกจะมีเงินออมยามเกษียณที่เพียงพอ โดยปีหน้าภารกิจหลักก็จะเป็นในเรื่องของการออมเพื่อการเกษียณ และเป้าหมายของเรา คืออยากให้สมาชิกมีเงินออม ณ วันเกษียณ เท่ากับ 80% ของเงินเดือนสุดท้าย จากปกติอยู่ที่ 50% หรือ 70% ของเงินเดือนสุดท้าย และใช้เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 70 ของเงินขั้นต่ำพึงมี (Minimum Lump Sum) หรือ ณ อายุ 60 ปี ต้องไปสำรวจว่าเขาควรจะมีเงินเท่าไหร่ถึงจะใช้เพียงพอ สบายๆ ในเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 70"นายวิทัย กล่าว

นายวิทัย กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากแผนงานส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณให้กับสมาชิกแล้ว ในช่วงต้นปี 63 กบข.เตรียมเปิดตัว "ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณของสมาชิก กบข." (Member Retirement Readiness Index) เพื่อใช้เป็นเครื่องวัดผลความสำเร็จในการส่งเสริมการออมให้กับสมาชิก และ พร้อมเริ่มโครงการความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนา ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณระดับประเทศ (National Retirement Readiness Index) เพื่อเป็นดัชนีอ้างอิงความพร้อมในการเกษียณของคนไทยทั้งประเทศรองรับกับปัญหาสังคมสูงวัยที่จะเป็นปัญหาหลักของประเทศในอนาคต

เป้าหมายส่งเสริม และร่วมสร้างสังคมมีความยั่งยืน (Social Sustainability) กบข.ยังคงดำเนินแผนงานต่อเนื่องเพื่อการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ ธรรมาภิบาล (ESG Investing) โดยปี 63 มีเป้าหมายส่งเสริมให้นักลงทุนสถาบันหันมาให้ความสำคัญกับการนำปัจจัย ESG ไปเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนภายนอก ซึ่ง กบข.ได้เริ่มนำหลักเกณฑ์ปัจจัย ESG มาใช้คัดเลือกผู้จัดการกองทุนภายนอกมาแล้วตั้งแต่ปี 62

สำหรับการจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของสังคมนั้น กบข. จะเลือกลงทุนเฉพาะหลักทรัพย์ที่คำนึงถึงปัจจัย ESG ซึ่งตั้งเป้าหมายปี 63 ไว้ว่าการลงทุนในประเทศทั้งหมดทั้งในส่วนหุ้นและตราสารหนี้ต้องเป็น 100% ESG Portfolio ทั้งหมด หรือจะเข้าลงทุนเฉพาะในบริษัทที่คำนึงถึง และให้ความสำคัญต่อปัจจัย ESG เท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ