TOP คาดโครงการ CFP ขยายกำลังการกลั่นแล้วเสร็จปี 66 ดัน EBITDA เพิ่ม 1.2 พันล้านเหรียญ/ปี,พิษโควิดส่งผลลดผลิตน้ำมัน JET

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 5, 2020 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

TOP คาดโครงการ CFP ขยายกำลังการกลั่นแล้วเสร็จปี 66 ดัน EBITDA เพิ่ม 1.2 พันล้านเหรียญ/ปี,พิษโควิดส่งผลลดผลิตน้ำมัน JET

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า โครงการพลังงานสะอาด (CFP) มูลค่าการลงทุน 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน เป็น 4 แสนบาร์เรล/วัน ที่จะแล้วเสร็จพร้อมเดินเครื่องในไตรมาส 1/66 คาดว่าจะสร้างกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมันเพิ่มขึ้น 4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ/ปี

วันนี้ (5 มี.ค.) บริษัทจัดพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลักในโครงการ CFP ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วราว 31% และอยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมโดยละเอียด รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่และงานวางฐานราก เพื่อรองรับงานติดตั้งโครงสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยโครงการ CFP จะทำให้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 45% และช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ หรือโอเลฟินส์ รวมถึงลดต้นทุนการกลั่นน้ำมันจากการเลือกใช้น้ำมันดิบชนิดหนัก (heavy crude) ซึ่งมีราคาต่ำได้ในสัดส่วน 45-50% จากปัจจุบันที่ใช้น้ำมันดิบชนิดเบาที่มีราคาสูงเกือบทั้งหมด

นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า การลงทุนโครงการ CFP จะใช้เงินมากสุดในปีนี้ที่ราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปีที่แล้วใช้ไปประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่องานก่อสร้างโครงการมากนัก โดยเฉพาะในส่วนการนำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในงานก่อสร้างที่ส่วนใหญ่จะมาจากไทย จีน และฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนี้ซัพพลายเออร์ยังยืนยันส่งของตามกำหนดที่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แต่หากมีความล่าช้าก็จะสลับแผนงานการติดตั้งในส่วนที่มีความพร้อมก่อนเพื่อให้มีความเหมาะสมและเดินหน้าโครงการต่อไป

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของธุรกิจในปีนี้เพราะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันภาพรวมชะลอตัวลง โดยเฉพาะในส่วนของน้ำมันอากาศยาน (JET) ที่ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้บริษัทปรับสัดส่วนการกลั่นน้ำมันในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. โดยลดการกลั่นน้ำมัน JET ลง 8-10% จากเดิม 23% และหันไปเพิ่มสัดส่วนผลิตน้ำมันดีเซลทดแทนเป็นราว 41-43% จากเดิมอยู่ที่ราว 33% ส่วนที่เหลือเป็นการผลิตเชื้อเพลิงประเภทอื่น ๆ

การปรับสัดส่วนกลั่นน้ำมันดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อมาร์จิ้นมากนักเพราะปัจจุบันส่วนต่าง (สเปรด) ระหว่างน้ำมันดิบและน้ำมัน JET อยู่ที่ราว 6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ต่ำกว่าสเปรดของน้ำมันดีเซลที่อยู่ระดับ 8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาอยู่ค่อนข้างมากเพราะยังมีการเดินทางทางบกและการขนส่งโลจิสติกส์อยู่

อย่างไรก็ดี สเปรดของทั้งน้ำมัน JET และดีเซล ในปัจจุบันที่อยู่ระดับดังกล่าวก็นับว่าต่ำสุดในรอบหลายปีจากปกติที่อยู่ราว 15-18 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังจากได้รับแรงกดดันจากช่วงการปรับตัวรองรับเกณฑ์ใหม่ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ที่กำหนดให้เรือเดินสมุทรใช้น้ำมันกำมะถันต่ำ 0.5% จากเดิม 3.5% มีผลตั้งแต่ต้นปี 63 ประกอบกับมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างเข้ามาเสริมทำให้สเปรดเริ่มลดลงมาอยู่ในระดับเลขหลักเดียวในช่วงเดือนก.พ.

ปัจจุบันการปรับตัวเพื่อรับเกณฑ์ใหม่ของ IMO เริ่มดีขึ้น และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ก็น่าจะเห็นสเปรดน้ำมันเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตามสเปรดผลิตภัณฑ์ที่หดตัวลงกระทบต่อค่าการกลั่น (GRM) ของธุรกิจโรงกลั่นลดลงด้วย โดย GRM ที่สิงคโปร์เหลือต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ซึ่งนับว่าเป็นภาวะที่ยากลำบากแต่ในส่วนโรงกลั่นของบริษัทนับว่ามีประสิทธิภาพที่ดีทำให้ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย

แต่ขณะนี้นับว่าเร็วเกินไปที่จะระบุถึงแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในปีนี้เพราะสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอน แต่ปัจจัยลบที่เข้ามากระทบเกิดขึ้นในช่วงต้นปี ก็จะทำให้บริษัทสามารถปรับตัวได้ทัน ประกอบกับปีที่แล้วหยุดซ่อมบำรุงใหญ่ไปแล้วในปีที่ผ่านมาก็ทำให้สามารถบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์ผันผวนได้ดีขึ้นด้วย

นางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี ของ TOP กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการของบริษัทในปีนี้หากไม่มีปัจจัยสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะมีทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปีนี้ไม่มีปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นเหมือนปีก่อนทำให้อัตราการใช้กำลังการกลั่นเฉลี่ยอยู่ที่ราว 110% จากกว่า 100% ในปีก่อน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย ดูไบ ในปีนี้ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนค่าการกลั่นแม้จะอ่อนตัวลงในไตรมาสแรก แต่หวังว่าจะฟื้นตัวขึ้นในระยะต่อไปโดยเฉพาะหลังทุกฝ่ายปรับตัวรับเกณฑ์ใหม่ IMO ได้แล้ว

สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี ที่มีผลิตภัณฑ์หลักคือพาราไซลีน (PX) และเบนซีน ในสายอะโรเมติกส์ ซึ่งราคาผลิตภัณฑ์ไม่ได้อิงกับราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำมากนัก ประกอบกับปีนี้ไม่มีหยุดซ่อมบำรุงทำให้คาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตในปีนี้จะสูงกว่าระดับ 80% ในปีที่แล้ว ทำให้คาดว่ามาร์จิ้นก็น่าจะฟื้นตัวได้ ส่วนปีนี้จะใช้อัตรากำลังการผลิตระดับเท่าใดนั้นยังขึ้นอยู่กับมาร์จิ้นผลิตภัณฑ์ด้วย

อย่างไรก็ตามแม้ธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมียังถูกกระทบจากสถานการณ์ภายนอก แต่ธุรกิจไฟฟ้าที่บริษัทถือหุ้นในบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และบริษัท ไทยออยล์ เพาเวอร์ จำกัด จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นของ GPSC ซึ่งจะข่วยลดความผันผวนและประคองผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้

นอกจากนี้คาดว่าต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะลดลงในปีนี้จากปัจจุบันที่อยู่เฉลี่ยราว 3% หลังจากมองโอกาสออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในช่วงภาวะดอกเบี้ยต่ำ โดยเตรียมขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเม.ย.เพื่อพิจารณาออกหุ้นกู้เพิ่มเติม 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 68 รองรับการลงทุนหรือชำระหนี้

ขณะที่บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนช่วง 5 ปี (ปี 63-67) ในช่วง 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ในโครงการ CFP โดยปัจจุบันบริษัทมีเงินฝากในมือราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีกระแสเงินสดเข้ามาปีละ 200-300 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีภาระจ่ายคืนเงินกู้ราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ