นายกฯ ประชุมศอฉ.โควิด-19 นัดแรก หลังพ.ร.ก.ฉุกเฉินดีเดย์วันนี้/คลัง ชี้แจงขั้นตอนลงทะเบียนรับเงินเยียวยา

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 26, 2020 09:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ติดตามการประชุมศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศอฉ.โควิด-19) นัดแรก โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานการประชุม หลังวานนี้ได้ออกข้อกำหนดฉบับที่ 1 ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวม 16 ข้อปฎิบัติทั้งเรื่องที่ห้ามกระทำ เรื่องที่ให้กระทำได้ และเรื่องที่ควรปฏิบัติ

  • พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2563
  • นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดงาน Clean Together จากนั้นรับมอบเวชภัณฑ์จากมูลนิธิแจ๊คหม่า ต่อด้วยการแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดว่าจะเป็นอย่างไร หลังจากเมื่อวานนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อฯ สะสมจำนวน 934 ราย กลับบ้านได้แล้ว 70 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 860 ราย
  • นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงการคลัง ชี้แจงขั้นตอนต่างๆ ตามมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2
  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงแนวทางการดำเนินการและข้อเสนอแนะของภาคเอกชนที่จะสนับสนุนมาตรการหยุดยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ประชุมหารือแนวทางมาตรการช่วยเหลือภายใต้สถานการณ์การแพระระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
  • ศาลปกครองกลาง นัดอ่านคำพิพากษาสองคดี คดีแรกเป็นกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 5 คน ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 5 คน เพื่อขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ส.ค.56 ที่เห็นชอบให้ปรับราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน โดยให้ปรับขึ้นเดือนละ 0.50 บาท/กิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.56 เป็นต้นไป จนสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาท/กิโลกรัม และเห็นชอบเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซ LPG ภาคครัวเรือน ทั้งในส่วนของครัวเรือนรายได้น้อย และร้านค้า หาบเร่ แผงลอยอาหาร ให้คงราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเห็นว่าเป็นมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 61 ที่กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดกลับไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว และยังไม่เคยรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

อีกคดีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับพวกรวม 8 คน กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ รวม 7 สำนวน เนื่องจากอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กับพวก อนุญาตให้ผู้ประกอบการต่างๆ เข้ามาดำเนินกิจการโรงงานท่าเรือขนส่งสินค้าในท้องที่เขตความรับผิดชอบแล้วปล่อยปละละเลยให้บริเวณท่าเทียบเรือเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผู้ประกอบการคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ เป็นเหตุให้เกิดฝุ่นละออง น้ำเสีย และส่งเสียงดังกระทบกระเทือนต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ