KBANK คาดผลงาน Q1/63 ลดลงแรง รับผลกระทบโควิด-19 ทำศก.หดตัว พร้อมเตรียมปรับเป้าใหม่ชัดเจน Q2/63

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 7, 2020 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยเผชิญกับความยากลำบาก และมีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในช่วงไตรมาส 1/63 ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามากดดันเพิ่มเติมจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่แล้ว โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทำให้ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ทั้งภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อลูกค้าของธนาคาร และส่งผลมาถึงธุรกิจของธนาคารในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาคาดว่าผลการดำเนินงานจะลดลงค่อนข้างมาก

ขณะเดียวกันธนาคารยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทิศทางของเศรษฐกิจ และมาตรการเยียวยาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาประกอบเป็นปัจจัยพิจารณาปรับเป้าหมายการดำเนินงานของธนาคารในปี 63 อีกครั้ง โดยเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่อที่คาดว่าจะต้องปรับลดลงจากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโต 4-6% ซึ่งจะปรับให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับ GDP ไทยลดลงมาเป็นติดลบ 5% ในปี 63 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดในเดือนมิ.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งการปรับเป้าหมายใหม่ของธนาคารจะชัดเจนในช่วงไตรมาส 2/63

"มองว่าสถานการณ์แบบนี้ จะไม่เป็นช่วงที่ธนาคารจะหันมาเน้นการเติบโตของสินเชื่อ แต่ธนาคารมองว่าสิ่งที่ควรทำเป็นการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าของธนาคารทุกกลุ่ม เพื่อทำให้ลูกค้าทุกรายของธนาคารอยู่รอดและไปต่อได้ รวมถึงเป็นการควบคุมระดับ NPL ของธนาคารไม่ให้เพิ่มขึ้นสูงไปมาก"นางสาวขัตติยา กล่าว

อย่างไรก็ตามสถานะการดำเนินงานของธนาคารยังมีความแข็งแกร่งจากสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝาก (LTD) อยู่ในระดับสูง 96% และมีสินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์สภาพคล่อง (LCR) สูงถึง 198% รวมไปถึงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 16% เพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ที่อาจจะแย่กว่าในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นว่าธนาคารมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

สำหรับโลกในทุกวันนี้เปลี่ยนไป ทั้งบทบาทของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคและการแข่งขันในธุรกิจอย่างมาก รวมกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เข้ามากระทบ ปัจจัยที่จะมาสั่นคลอนและท้าทายชีวิตของลูกค้ามีมากขึ้น ทั้งเชิงธุรกิจและชีวิตส่วนตัว แต่ธนาคารจะอยู่กับลูกค้าทุกที่และทำให้ลูกค้ามั่นใจว่าอยู่กับธนาคารแล้วปลอดภัย โดยจะช่วยเพิ่มอำนาจให้กับการใช้ชีวิตและการทำธุรกิจของลูกค้า (Empower Every Customer’s Life and Business) ทั้งการสนับสนุนแหล่งเงินทุน บริการทางการเงิน การให้ข้อมูล และโอกาสในการพบผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะกับธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าก้าวนำการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้นำในการทำธุรกิจ และได้ใช้ชีวิตตามที่ตัวเองต้องการ

โดยเหตุการณ์ต่าง ๆ ในภายภาคหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เหนือการคาดการณ์ได้มากมาย ซึ่งธนาคารอาจยังไม่รู้ชัดว่าธุรกิจธนาคารจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปลักษณ์ไหน แต่สิ่งที่ธนาคารรู้แน่ชัด คือ ธนาคารต้องมีแนวคิดที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง (Change Mind Set) มีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) ที่สำคัญที่สุด คือ มีความรับผิดชอบต่อสังคมและโลกใบนี้ (Sustainability) ซึ่งธนาคารกสิกรไทยจะเป็นองค์กรที่ใหญ่แต่เร็ว คล่องตัวสูง เป็นฟันเฟืองหลักของระบบเศรษฐกิจของประเทศ

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการ ของ KBANK เปิดเผยว่า ช่วงนี้สภาพเศรษฐกิจไทยอ่อนแอลง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ปัญหาคุณภาพสินเชื่อจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับธุรกิจธนาคาร โดยอาจต้องติดตามสถานการณ์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้กลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งที่พึ่งพิงตลาดและกำลังซื้อในประเทศ และที่พึ่งพิงตลาดส่งออก ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามคาดว่ามาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ จะมีส่วนสำคัญในการลดทอนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะช่วยลดภาระการกันสำรองของสถาบันการเงิน ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ส่งผลให้การทบทวนประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจ ในปี 63 คาดว่าจะหดตัว 5% ตามสมมติฐานต่อไปนี้ สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยและต่างประเทศ สามารถควบคุมจำนวนการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อได้ในภายในไตรมาส 2/63 ,เศรษฐกิจโลกและไทยคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 63 ตลอดจนนโยบายการเงินและการคลังที่ทยอยออกมาแล้ว และที่กำลังจะตามมา จะช่วยประคองกลไกทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงินให้สามารถดำเนินต่อไปได้

โดยปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยปีนี้ คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยประคองเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ส่วนปัจจัยเสี่ยง คือ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภค และการลงทุน อย่างมีนัยสำคัญ

ด้านทิศทางของธนาคารกสิกรไทยที่ดำเนินต่อจากนี้ คือ เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าธนาคารในหลาย ๆ ทาง พร้อมมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ และในอนาคตข้างหน้า นอกจากการฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้แล้ว ธนาคารกสิกรไทยจะยังคงบทบาทการเป็นสถาบันการเงินชั้นนำ ที่จะเป็นตัวจักรสำคัญในการพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และพร้อมเสมอที่จะรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่อื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

"ด้วยบทบาทและหน้าที่ของประธานกรรมการ ในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล ได้ประเมินฝ่ายบริหารและศักยภาพพื้นฐานของธนาคารแล้ว ก็มั่นใจว่า ยังดำรงความแข็งแกร่งเป็นที่น่าพอใจ และเชื่อมั่นว่าฝ่ายจัดการจะสามารถบริหารธนาคารให้ก้าวผ่านโจทย์ธุรกิจในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคู่กับการสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเพื่อรับมือดิสรัปชั่นและความท้าทายอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเรียบร้อย"นางกอบกาญจน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ