BEAUTY คาดรายได้-กำไรปี 63 ต่ำกว่าปีก่อน หลังแนวโน้ม Q1 พลิกขาดทุน จากยอดขายลดรับผลโควิด ,รุกขายออนไลน์-บริหารต้นทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 17, 2020 15:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า ทิศทางผลประกอบการในปี 63 จะต่ำกว่าปีก่อนแน่นอน ทั้งด้านรายได้และกำไรสุทธิ จากเดิมที่คาดว่ารายได้เติบโต 20% เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อบริษัทมากน้อยระดับใด จากปัจจุบันที่กระทบต่อการจำหน่ายสินค้าของบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว ทำให้ยอดขายลดลงในไตรมาสแรก โดยเริ่มเห็นการลดลงตั้งแต่เดือนม.ค. ต่อเนื่องเป็นลำดับในอัตราที่มากขึ้นจากระดับ 50% , 70% และเพิ่มเป็น 90% ในช่วงที่มีการปิดร้านค้าเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่บริษัทเปิดดำเนินการมา ส่งผลให้ไตรมาส 1/63 น่าจะมีผลการดำเนินงานขาดทุน เมื่อเทียบกับระดับกำไรสุทธิ 69.55 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน

"เราจะไปให้ความหวังว่าบริษัทเราจะดีคงไม่ได้ เพราะเราได้รับผลกระทบมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว และเราไม่รู้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จะกินระยะเวลานานแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงนี้เราก็ถือว่าควบคุมค่าใช้จ่าย บริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ในส่วนของการผลิตสินค้ายืนยันว่าจะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน เพราะเรามีโรงงานรองรับการผลิตทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 50 โรงงาน"นายพีระพงษ์ กล่าว

นายพีระพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากตลาดในประเทศมากกว่า 70% ซึ่งได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. ก่อนที่รัฐบาลจะมีประกาศปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ซึ่งรวมถึงห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และ Community Mall ส่งผลกระทบให้บริษัทต้องปิดสาขาบิวตี้ทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ 265 สาขา จากทั้งหมดที่มีอยู่ 285 สาขา โดยบริษัทได้เจรจากับผู้ให้เช่าพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อที่ขอลดค่าเช่า หรือการหยุดจ่ายค่าเช่า รวมไปถึงการเจรจากับคู่ค้าเพื่อที่จะขอส่วนลด และผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระเงิน

อย่างไรก็ตามบริษัทได้ปรับกลยุทธ์การจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ผ่านระบบแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ www.beautybuffet.co.th , FB:Beauty Buffet Shop , Line@: @beautybuffetshop , Lazada , Shopee , Zilingo เป็นต้น รวมไปถึงโครงการ "Beauty Online Shop" ให้พนักงานประจำสาขาที่เคยอยู่ในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆ สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถการนำเสนอสินค้า และบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน ซึ่งช่องทางต่าง ๆ ดังกล่าวมีการเติบโตได้ค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติบริษัทจะนำกลยุทธ์เหล่านี้มาปรับใช้ และคาดว่าในอนาคตสัดส่วนรายได้จากช่องทางออนไลน์จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 20-40%

สำหรับสัดส่วนของรายได้จากต่างประเทศที่มีอยู่กว่า 20% ปัจจุบันตัวแทนจำหน่ายได้เริ่มกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน และเขตปกครองพิเศษฮ่องกง เริ่มมีสัญญาณที่ดีจากตัวแทนจำหน่าย (Distributor) ระบบการขนส่งเริ่มกลับมาดำเนินการได้ โดยคาดว่าหากสถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลา 2-3 เดือนก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ส่วนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผ่านมายังมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง แต่ยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบในระยะสั้น หากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็จะมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามา ซึ่งบริษัทยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดกับตัวแทนจำหน่าย มีการสนับสนุนด้านการตลาด และสินค้าต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามธุรกิจส่วนนี้เป็นรูปแบบการค้าผ่านระบบตัวแทน จึงไม่กระทบในด้านต้นทุนของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทยังคงเน้นการบริหารจัดการต้นทุนที่ดีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของต้นทุนคงที่ ลดค่าใช้จ่ายในด้านโฆษณา ด้านการตลาด และบุคลากรด้วย "เรายังคงประเมินสถานการณ์ได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าจะต้องปิดร้านค้าไปนานเพียงใด และหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วก็ตาม กำลังซื้อก็ยังคงจะกลับมาไม่ได้เร็วมากนัก โดยเราได้เห็นตัวอย่างจากประเทศจีนไปแล้วว่าเป็นการค่อย ๆ ฟื้นตัวมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามเราได้ปรับกลยุทธ์การทำงาน การจำหน่ายสินค้าให้เหมาะสม และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายแล้ว เราก็จะนำกลยุทธ์ต่าง ๆ มาพัฒนาและปรับใช้ด้วย"นายพีระพงษ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ