ทริส คงเครดิตองค์กร แบงก์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ "A-" หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ที่ "BBB" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 23, 2020 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่ และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ "BBB"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงเงินกองทุนและคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคาร อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็มีข้อจำกัดจากการมีธุรกิจที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก รวมถึงการกระจุกตัวของกลุ่มลูกค้า และการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากฐานลูกค้าเงินฝากรายใหญ่ในระดับสูง

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต ธุรกิจธนาคารมีขนาดเล็ก สถานะทางธุรกิจของธนาคารแลนด์ แอน เฮ้าส์ สะท้อนถึงการมีธุรกิจธนาคารที่มีขนาดเล็กและความเสี่ยงจากการมีสัดส่วนของสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ในระดับสูง ทริสเรทติ้งยังพิจารณาถึงการที่ธนาคารได้รับการสนับสนุนทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องจากพันธมิตรธุรกิจเชิงกลยุทธ์คือ CTBC Bank Co., Ltd. (CTBC Bank) และการเพิ่มศักยภาพในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายธุรกิจในอนาคตได้อีกด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะค่อย ๆ กระจายความเสี่ยงออกไปโดยเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจด้วยการเพิ่มบริการธุรกรรมทางการเงินสำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการลูกค้ารายย่อยที่รวมการนำเสนอบริการซื้อขายหลักทรัพย์และกองทุนจากธุรกิจในเครือของกลุ่มเข้าด้วยกัน

ณ สิ้นปี 2562 ธนาคารมีส่วนแบ่งของสินเชื่อและเงินฝากรวมที่มีขนาดเล็กโดยแต่ละรายการมีสัดส่วนอยู่ที่ระดับ 1.3% จากจำนวนธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีหุ้นซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 10 แห่ง สัดส่วนการปล่อยกู้สำหรับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 77% ของสินเชื่อรวมซึ่งรวมรายการระหว่างธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 และมีสัดส่วนของรายได้ดอกเบี้ยที่ระดับ 71% ของรายได้จากดอกเบี้ยรวมในปีเดียวกัน ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมบริการสุทธิอยู่ที่ระดับ 5.1% ของรายได้รวมในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับประมาณ 20% โดยค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารมีสัดส่วน 45% ของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการรวม ตามมาด้วยค่าธรรมเนียมนายหน้าขายประกัน (23%) นายหน้าขายกองทุนรวม (19%) ธุรกรรมทางการเงิน (10%) และอื่น ๆ (3%)

เงินกองทุนแข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Core Equity Tier-1 -- CET-1) ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคารว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 17.5% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอยเป็นอย่างมาก ทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารจะหดตัวลงที่ระดับ 7% ในปี 2563 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานแบบอนุรักษ์นิยมของทริสเรทติ้ง แล้วหลังจากนั้นในปีถัด ๆ ไปสินเชื่อจะกลับมาฟื้นตัวแบบบางเบาจากฐานที่ต่ำลง

ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 เมื่อรวมผลกำไรในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 และอัตราส่วนเงินปันผลที่ระดับ 45% แล้วนั้นจะอยู่ที่ระดับ 16.7% โดยอัตราส่วนลดลงจากระดับ 18.66% ณ เดือนกันยายน 2562 เนื่องจากการจัดประเภทของเงินลงทุนให้เป็นเงินลงทุนเพื่อค้าที่มีสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่าจากเดิมที่เป็นเงินลงทุนเผื่อขาย ณ สิ้นปี 2562

ความสามารถในการทำกำไรอยู่ในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าระบบเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานหลักของธนาคารเนื่องจากรายได้ที่ลดลงและต้นทุนทางเครดิตที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงประมาณการอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารว่าจะอยู่ที่ระดับประมาณ 0.3% ในปี 2563 และจะอยู่ที่ระดับ 0.7%-0.8% ในระหว่างปี 2564-2565 โดยที่ความสามารถในการทำกำไรในระดับปานกลางซึ่งมาจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนต่ำและรายได้ค่าธรรมเนียมที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเป็นปัจจัยหลักที่สะท้อนการประเมินความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

ทริสเรทติ้งคาดว่าผลกำไร/ขาดทุนจากเงินลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มความผันผวนของผลกำไรที่ไม่ได้มาจากผลการดำเนินงานหลักของธนาคารมากยิ่งขึ้นในอนาคต เงินลงทุนดังกล่าวมีการวัดมูลค่ายุติธรรมด้วยกำไรหรือขาดทุน (Fair Value Through Profit and Loss – FVPL) ตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน (TFRS 9) และมีสัดส่วนประมาณ 16% ของเงินลงทุนรวม ณ สิ้นปี 2562 ในความเห็นของทริสเรทติ้ง ธนาคารอาจจะรับรู้ผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากเงินลงทุนดังกล่าวในปี 2563 เมื่อพิจารณาจากความผันผวนในตลาดทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงต้นปี 2563

อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของธนาคารอยู่ที่ระดับ 0.9% ในปี 2562 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.2% ในขณะที่อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตอยู่ที่ระดับ 1.5% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.0% ในช่วงเวลาเดียวกัน

การกระจุกตัวทางธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อคุณภาพสินทรัพย์ ทริสเรทติ้งคาดว่าธนาคารจะเผชิญกับแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะที่ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวทางธุรกิจในระดับสูงก็อาจยิ่งทำให้ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์เพิ่มสูงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่ามาตรการผ่อนปรนของธนาคารสำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะช่วยให้ธนาคารสามารถคุมอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมและต้นทุนทางเครดิตให้อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (รวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร) ของธนาคารว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.1%-2.7% ในระหว่างปี 2563-2565 และประมาณการต้นทุนทางเครดิตที่ระดับ 0.6%-0.8% ในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อพิจารณาจากอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ระดับ 143% ณ สิ้นปี 2562

การกระจุกตัวทางเครดิตของธนาคารเมื่อวัดจากสัดส่วนสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่ของลูกค้า 20 รายแรกต่อสินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต ทริสเรทติ้งยังคาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อบางภาคอุตสาหกรรมที่ธนาคารมีการปล่อยสินเชื่อในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการค้ามีสัดส่วน 21% ของสินเชื่อรวม (รวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร) ณ สิ้นปี 2562 ตามมาด้วยอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง (13%) และภาคบริการและร้านอาหาร (9%)

ธนาคารสามารถรักษาอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมให้อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำได้ในปี 2562 ถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์เช่นเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น ๆ ธนาคารมีอัตราส่วนการก่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.9% ในปี 2562 จากระดับ 0.4% ในปี 2561 เนื่องจากสินเชื่อด้อยคุณภาพใหม่ที่เพิ่มขึ้นและธนาคารได้ขายหนี้เสียในปริมาณมากออกไปในช่วงระหว่างปี อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (รวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร) ของธนาคารลดลงสู่ระดับ 1.55% ณ สิ้นปี 2562 จากระดับ 1.9% ณ สิ้นปี 2561 โดยอัตราส่วนยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.1%

แหล่งเงินทุนค่อนข้างจำกัด ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างจำกัดจากการมีขนาดธุรกิจเงินฝากที่ค่อนข้างเล็กและการพึ่งพาแหล่งเงินทุนที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ถึงแม้ว่าเงินฝากจะมีสัดส่วนถึง 84% ของแหล่งเงินทุนรวมของธนาคารและใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 87% แต่เงินฝากส่วนใหญ่ของธนาคารก็เป็นเงินฝากประจำที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ธนาคารมีสัดส่วนของเงินฝากจากลูกค้าธุรกิจต่อเงินฝากรวมในสัดส่วนที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นที่ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิต ในทำนองเดียวกัน บัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ (Current Account and Savings Account – CASA) ของธนาคารในสัดส่วน 40% ของเงินฝากของธนาคาร ณ สิ้นปี 2562 ก็ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 60% เช่นกัน ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ค่อนข้างจำกัดของธนาคารยังสะท้อนจากต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงที่ 2.1% ในปี 2562 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 1.5% ในปีเดียวกันอีกด้วย อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารอยู่ที่ระดับ 94% ในปี 2562 ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย

สภาพคล่องเพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินสถานะสภาพคล่องของธนาคารว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมอยู่ที่ระดับ 33% ณ สิ้นปี 2562 อัตราส่วนสภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง (Liquidity Coverage Ratio -- LCR) ของธนาคารอยู่ที่ระดับ 147% ณ สื้นปี 2562 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ของทางการ แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 179% ตามข้อมูลรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ Basel III อันดับเครดิตในระดับ "BBB" สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 (LHBANK255A) ของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ สะท้อนความเสี่ยงในการด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการไม่ได้รับการชำระหนี้ตามเงื่อนไขการรองรับผลขาดทุนเมื่อธนาคารไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ตราสารดังกล่าวมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ Basel III และสามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท. โดยตราสารประเภทนี้มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ไม่สามารถเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และไม่สามารถแปลงสภาพได้ ธนาคารสามารถไถ่ถอนตราสารคืนทั้งจำนวนก่อนวันครบกำหนดได้หากวันไถ่ถอนมีระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสารและได้รับความเห็นชอบจาก ธปท. แล้ว ผู้ถือตราสารประเภทนี้มีสิทธิที่ด้อยกว่าผู้ฝากเงินและผู้ถือหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของธนาคาร ทั้งนี้ ตราสารดังกล่าวสามารถตัดเป็นหนี้สูญได้ในกรณีที่หน่วยงานกำกับดูแลพิจารณาเห็นว่าธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

ต่อไปนี้คือสมมุติฐานที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในระหว่างปี 2563-2565

อัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ที่ระดับ -7% ในปี 2563 และที่ระดับ 1%-2% ในระหว่างปี 2564-2565

ต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 0.6%-0.8%

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (รวมเงินกู้ยืมระหว่างธนาคาร) จะอยู่ที่ระดับ 2.1%-2.7%

อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะอยู่ที่ระดับประมาณ 17.5%

อัตรากำไรจากดอกเบี้ยสุทธิหลังหักต้นทุนทางเครดิตจะอยู่ที่ระดับ 1.5%-1.6%

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งจะยังคงได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนด้านธุรกิจและเงินกองทุนจากพันธมิตรธุรกิจเชิงกลยุทธ์คือ CTBC Bank นั้นน่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งในส่วนของธุรกิจธนาคารและฐานลูกค้า รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ในขณะที่การกระจุกตัวของสินเชื่อนั้นทริสเรทติ้งคาดว่าน่าจะลดลงได้ในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นได้โดยขึ้นอยู่กับความสำเร็จของธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในการขยายธุรกิจและรายได้ โดยในการนี้ทริสเรทติ้งหวังจะเห็นความสำเร็จในการดำเนินงานของธนาคารที่มีมากขึ้นทั้งในส่วนของการมีฐานลูกค้าที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อและเงินฝากที่เพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการต่อรายได้รวมที่เพิ่มสูงขึ้น และการกระจุกตัวของสินเชื่อที่ลดลง ในขณะเดียวกัน ธนาคารก็ควรจะรักษาคุณภาพสินทรัพย์ รวมทั้งเงินกองทุน และความสามารถในการทำกำไรให้อยู่ในสภาพที่ดีด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเงินกองทุนถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือคุณภาพสินทรัพย์ หรือความสามารถในการทำกำไรของธนาคารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทริสเรทติ้งก็อาจจะทำการปรับลดอันดับเครดิตลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ