MM เลื่อนเป้าพลิกเป็นกำไรไปปี 64 หลังเจอวิกฤติโควิด-19 พร้อมวางแผนบูรณาการธุรกิจสู่ New Normal

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 30, 2020 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนาดิม ซาเวียร์ ซาลฮานี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มัดแมน (MM) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทคาดว่าเป้าหมายการพลิกผลประกอบการมาเป็นมีกำไรจะเลื่อนออกไปเป็นปี 64 จากเดิมที่คาดจะกลับมามีกำไรสุทธิในปีนี้ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เป้าหมายดังกล่าวจึงเป็นไปได้ยากขึ้น

อนึ่ง ผลประกอบการปี 62 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 18.94 ล้านบาท

ปัจจุบัน MM มีสาขาร้านดังกิ้นโดนัท จำนวน 298 สาขา, ร้านโอ บอง แปง เบเกอรี่เดอะคาเฟ่ (au bon pain the bakery cafe) จำนวน 70 สาขา และร้านเกรฮาวด์ (Greyhound) ราว 14-16 สาขา รวมทั้งร้านอาหารและเครื่องดื่มในประเทศฝรั่งเศสภายใต้แบรนด์ Le Grand Vefour (เลอ กรองด์ เวฟู) 4 สาขา

นายนาดิม กล่าวว่า จากมาตรการป้องกันแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดขายร้านอาหารในเครือ MM ลดลง 70% ยกเว้น ร้านดังกิ้นโดนัทที่ยอดขายลดลงเพียง 30% เนื่องจากรูปแบบการขายเดิมเป็นลักษณะซื้อกลับบ้าน (Grab and Go) ทำให้ได้รับผลกระทบเล็กน้อย และร้านโอ บอง แปง เบเกอรี่เดอะคาเฟ่ (au bon pain the bakery cafe) ที่มีพื้นที่ขายอยู่ในโรงพยาบาลค่อนข้างมาก และมีบริการดิลิเวอรี่อยู่แล้ว

ขณะที่บริษัทได้ปรับรูปแบบการขายอาหารของร้าน Greyhound มาวางขายบริเวณรถไฟฟ้า และขายดิลิเวอรี่ ส่วนแบรนด์อื่นๆ ก็มีการขายดิลิเวอรี่ทั้งหมด ส่วนร้านในฝรั่งเศสขณะนี้ได้ให้พนักงานหยุดทำงานตั้งแต่มีการประกาศให้มีการปิดร้านอาหาร ซึ่งทางรัฐบาลฝรั่งเศลช่วยสนับสนุนเรื่องเงินเดือนให้กับพนักงานถึง 85%

นอกจากนี้ บริษัทเน้นการบริหารจัดการเงินสด (Cash Flow) เพื่อให้เพียงพอรองรับการสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นทั้งหมด รวมถึงลดเงินเดือนพนักงาน แต่บริษัทยืนยันว่ายังมีสภาพคล่องทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และน่าจะรองรับกับการดำเนินธุรกิจไปได้ถึงเดือน ก.ค.นี้ รวมถึงการเจรจากับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งก็ได้รับการยืนยันว่าทางธนาคาร จะให้ความช่วยเหลือกับบริษัทอย่างแน่นอน

"เราไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน แต่ก็มีบางส่วนที่เขาขอลาออกไปเอง เนื่องจากกลัวเรื่องของโรคระบาด ซึ่งตรงนี้เราก็เข้าใจ ขณะเดียวกันเราก็ไม่มีการรับพนักงานประจำใหม่ และได้ก็ขอความร่วมมือกับพนักงานทุกคน เพื่อลดเงินเดือนลง เนื่องจาก 90% เป็นพนักงานหน้าร้าน ส่วนการทำงานในออฟฟิศ เราก็จะเปลี่ยนมาเป็นรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย และการเติบโตอย่างยั่งยืน" นายนาดิม กล่าว

นายนาดิม กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้บริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนบูรณาการปรับธุรกิจสู่ New Normal โดยเฉพาะวิธีการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการปรับรูปแบบการนำเสนอเมนูอาหารรูปแบบใหม่ หรือปรับเมนูอาหารให้น้อยลงเพื่อทำให้ง่ายขึ้น, การเปลี่ยนวิธีการเสริฟอาหารและ วิธีรับลูกค้า, ลดจำนวนที่นั่งในร้านให้สอดคล้องกับการเว้นระยะห่างทางสังคม, ปรับลดจำนวนพนักงานหน้าร้าน และหันมามุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานให้สูงขึ้น แต่จ่ายค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันก็ปรับกลยุทธ์มามุ่งเน้นการทำกำไรมากขึ้น ในเรื่องของการปรับลดต้นทุนต่าง ๆ เช่น ลดเงินเดือนพนักงานประจำลง 20-25% จากการปรับเวลาการทำงานของพนักงานเป็นรายชั่วโมงแทน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีพนักงานหน้าร้านรวมทั้งสิ้น 3,000 คน อีกทั้งยังลดเงินเดือนผู้บริหารลงด้วย รวมถึงเจรจาลดค่าเช่ากับเจ้าของพื้นที่เช่า (Landlord)

นอกจากนั้น บริษัทลดงบลงทุนขยายสาขา เช่น จากเดิม 1.5 ล้านบาทต่อสาขา มาเป็น 1 ล้านบาทต่อสาขา เนื่องด้วยหลังจากนี้บริษัทจะเน้นการขยายสาขาในขนาดเล็กลง โดยเฉพาะโอ บอง แปง และ ดังกิ้นโดนัท ลดพนักงานหน้าร้านลงเหลือ 1 คนต่อสาขา และปรับเมนูอาหารให้ทำง่ายขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนพนักงานที่ลดลง ขณะที่ร้านอาหารเกรฮาวด์ (Greyhound) ก็จะปรับลดพนักงาน และปรับรูปแบบเมนูอาหารเช่นกัน

พร้อมกันนี้บริษัทจะเน้นการขยายสาขาเข้าไปในโมเดิร์นเทรดมากขึ้น อย่าง แม็คโคร (makro) เพราะยังสามารถทำยอดขายได้ดี รวมถึงซูเปอร์มาร์เก็ตต่าง ๆ ที่ยังเป็นที่นิยม และขยายในรูปแบบฟู้ดทรัค (Food Truck) ที่สามารถจอดขายที่ไหนก็ได้ เช่น ตามสถานบริการน้ำมัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของค่าเช่าพื้นที่ ประกอบกับหาวิธีเพิ่มยอดขายในจุดขายเดิมให้มากขึ้น เช่น การทำดิลิเวอรี่ การทำโปรโมชั่น เป็นต้น

นายนาดิม กล่าวอีกว่า หากมีคำสั่งปลดล็อกดาวน์ และห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ บริษัทฯ ก็มีความพร้อมอย่างมากในการกลับมาให้บริการกับลูกค้า ซึ่งเชื่อมั่นว่าลูกค้าจะได้รับบริการในรูปแบบใหม่ ๆ อย่างแน่นอน

"เรามองว่าธุรกิจร้านอาหารจากนี้ไปจะเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น เนื่องจากจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก อย่างเช่นในจีน ร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ ก็มีการบริการอาหารให้กับลูกค้าถึงโต๊ะ จากเดิมที่ต้องเดินไปตักอาหารเอง เป็นต้น รวมถึงพฤติกรรมของคน ที่เชื่อว่าจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ทั้งการรับประทานอาหาร และการออกไปพบปะกัน"นายนาดิม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ