ก.ล.ต.แนะสมาชิกกองทุน PVD ที่เกษียณปีนี้อาจทยอยนำเงินออกตามจำเป็น หลังผลตอบแทนช่วงนี้อาจลดจากพิษโควิด

ข่าวหุ้น-การเงิน Sunday May 10, 2020 11:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุในบทความเรื่อง "COVID-19 กับเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" โดยระบุว่าช่วงนี้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หลายรายอาจกังวลกับผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีความผันผวนและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับลดลงค่อนข้างมากทำให้ผลตอบแทนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพลดลงไปด้วย

สำหรับสมาชิกกองทุนที่จะเกษียณในปีนี้ (จากสถิติที่ผ่านมาในแต่ละปีจะมีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เกษียณประมาณ 2-3 หมื่นคน) สามารถคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อได้เพื่อให้การลงทุนมีความต่อเนื่อง โดยไม่มีภาระต้องส่งเงินเพิ่มแต่อย่างใด ไม่ควรเอาเงินออกมาทั้งหมดในคราวเดียว แต่หากมีความจำเป็นต้องใช้เงินบางส่วน ควรขอรับเงินเป็นงวดออกมาใช้เท่าที่จำเป็น เช่น นำเงินออก 50,000 บาท ทุก ๆ 3 เดือน เพื่อให้การออมมีความต่อเนื่องและมีผลตอบแทนงอกเงยไว้ใช้อย่างเพียงพอภายหลังเกษียณ เนื่องจากการขอรับเงินเป็นงวด จะยังคงสถานะสมาชิกกองทุนอยู่เช่นเดิม และบริษัทจัดการจะบริหารเงินของสมาชิกต่อไป โดยไม่ต้องส่งเงินเพิ่มเช่นกัน

ทั้งนี้ สามารถติดต่อคณะกรรมการกองทุนเพื่อขอรับเงินเป็นงวด หรือทยอยเอาเงินออกจากกองทุน โดยระยะเวลาการคงเงิน และการขอรับเงินเป็นงวดจะขึ้นกับข้อบังคับกองทุน ซึ่งอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละกองทุน ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ในข้อบังคับกองทุนของสมาชิกเพิ่มเติม

นางศิษฏศรี กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยเผชิญกับ "วิกฤติโควิด" จากสิ้นเดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนเมษายน SET Index ปรับลดลงถึง 212.48 จุด หรือ -14% โดยเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 173.62 จุด หรือ -11% และในเดือนมีนาคม ซึ่งประเทศไทยเผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดหนักที่สุด SET Index ก็ได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงถึง 214.66 จุด หรือ -16% และได้เริ่มปรับตัวขึ้นในเมษายนที่ผ่านมา โดยปรับขึ้นไปกว่า 175.8 จุด หรือ +16% ไปอยู่ที่ 1,301.66 จุด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยที่เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับมาตรการเชิงรุกของภาครัฐด้านการเงินและการคลังที่มีอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ตลาดและผู้ลงทุน

จากการวิเคราะห์เพิ่มเติมทำให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ผู้ที่ออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แม้มีกองทุนบางส่วนที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดบ้าง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อย โดยข้อมูล ณ มีนาคม มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 10% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value) ที่ขาดทุน 10% ขึ้นไป และน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นจากสถานการณ์ที่คลี่คลายลงในเดือนเมษายน เนื่องจากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่อยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

โดยประมาณ 82% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล และ 30% ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน โดยเกือบทั้งหมดเป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้ (investment grade) ขณะที่ลงทุนในตราสารที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ และตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (non-investment grade และ unrated) เพียง 50 ล้านบาท หรือ น้อยกว่า 0.005% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท การลงทุนในหุ้นมีเพียง 22% จึงได้รับผลกระทบน้อยในช่วงตลาดหุ้นมีความผันผวน

แม้การลงทุนในหุ้นอาจได้รับผลกระทบจากราคาตลาดได้มากกว่า แต่สามารถสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าเช่นกันหากเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี สำหรับสมาชิกที่อายุยังน้อย มีเวลาอีกมากในการทำงานก่อนเกษียณ หรือสมาชิกที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากหากมีการขาดทุนในระยะสั้น การมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นในระดับที่เหมาะสมจะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายระยะยาวในการมีเงินออมเพียงพอรองรับการเกษียณ ซึ่งวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้มีอายุที่ยืนยาวขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งต้องมีเงินออมมากขึ้นเพื่อเพียงพอมีใช้ภายหลังเกษียณ สมาชิกจึงควรมีสัดส่วนการลงทุนระหว่างสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนสูงให้เหมาะสมกับเป้าหมายและระยะเวลาการลงทุนของตนเอง

หากเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการออมเพื่อรองรับการเกษียณ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีความได้เปรียบมากกว่าการออมประเภทอื่น ๆ ในหลายประการ ทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเสมือนได้รับโบนัสเพิ่มในแต่ละเดือน มีผู้จัดการมืออาชีพมาช่วยบริหารเงิน มีคณะกรรมการกองทุนมาช่วยคัดเลือกและติดตามดูแลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนให้อีกชั้นหนึ่ง ยังพบว่ามีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลตอบแทนระยะยาว ดังนั้น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ช่วยให้มนุษย์เงินเดือนสามารถบรรลุเป้าหมายมีเงินเอาไว้ใช้ยามเกษียณได้ง่ายขึ้น

นางศิษฏศรี ระบุในบทความเรื่อง "วิธีจัดการกับ PVD เมื่อต้องเผชิญกับ "วิกฤตโควิด"" ด้วยว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 อาจมีเหตุจำเป็นที่ทำให้สมาชิกต้องออกจากงานหรือลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะจัดการกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรดี มีทางเลือกอะไรบ้างที่ทำให้เป้าหมายการออมเพื่อวัยเกษียณไม่สะดุด และที่สำคัญ คือ จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นภาษีต่อเมื่อท่านเป็นสมาชิกกองทุนอย่างน้อย 5 ปี และมีอายุ 55 ปี ขึ้นไปเท่านั้น

ในกรณีที่ออกจากงาน ไม่จำเป็นต้องลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ได้ เพราะสามารถ "คงเงิน" ไว้ที่กองทุนเดิมได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยเงินที่คงไว้จะได้รับเงินผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป แต่จะไม่ได้เงินสมทบจากนายจ้างเดิมนับจากที่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน เมื่อได้งานใหม่ จึงค่อยมาโอนย้ายเงินที่คงไว้ในกองทุนเดิมไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ก็ได้ หรือหากนายจ้างใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเปลี่ยนใจไปทำอาชีพอิสระไม่มีนายจ้างก็สามารถโอนย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) for PVD ในภายหลังก็ได้ ซึ่งไม่ว่าจะโอนไปกองทุนใหม่ หรือโอนไป RMF ก็ไม่ต้องเสียภาษีหรือค่าธรรมเนียมใด ๆ

กรณีออกจากงาน แล้วโอนเงินไป RMF for PVD จะไม่สามารถย้ายกลับมา PVD ได้อีก แต่สามารถย้ายกองทุนหรือเปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องเป็นการสับเปลี่ยนระหว่างกองทุน RMF ด้วยกันเท่านั้น นอกจากนี้ กองทุน RMF ที่สามารถรับโอนเงินจาก PVD ได้จะต้องเป็น RMF ที่รับโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เท่านั้น (RMF for PVD) ซึ่งต่างจากกองทุน RMF ปกติ เพราะ RMF ปกติ ต้องซื้อหน่วยลงทุนต่อเนื่องทุกปี เพื่อให้ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี ขณะที่ RMF for PVD ไม่ต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม เพราะมีหลักการเสมือนการ "คงเงิน" ไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม เงื่อนไขการถอนเงินจาก RMF for PVD ก็จะเหมือนกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดิม นั่นคือ หากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็ต้องถืออย่างน้อย 5 ปี โดยจะนับต่อเนื่องจากการเป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โอนไป และต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตามก็ยังต้องการที่จะเชิญชวนให้กลับมาเป็นสมาชิกกองทุนอีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง เพราะการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือทางการเงินสำคัญ และมีความได้เปรียบกว่าการออมการลงทุนรูปแบบอื่นหลายประการ เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดภาษีแล้ว ยังได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง (ตามเงื่อนไขที่กำหนด) การบริหารจัดการลงทุนโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพและมีค่าธรรมเนียมการจัดการที่ต่ำ ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนดีที่ในระยะยาว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเป็นทางเลือกในการออมสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนสามารถบรรลุเป้าหมายมีเงินใช้ในวัยเกษียณได้ง่ายขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ