ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้มีประกัน PSH ที่ "A" แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 8, 2020 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันของ บมจ. พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) ที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่อาจเพิกถอนได้โดย บมจ. พฤกษา เรียลเอสเตท (PS) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ "A" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ในกรณีนี้ หุ้นกู้มีการค้ำประกันดังกล่าวมีสิทธิเท่าเทียมกันกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท

อันดับเครดิตสะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของบริษัทในฐานะที่เป็นบริษัทโฮลดิ้งและเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 98.23% ของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงรายได้จากเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของกลุ่มตาม Group Rating Methodology ของทริสเรทติ้งอีกด้วย

อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท นั้นมาจากการมีสินค้าที่ค่อนข้างหลากหลาย ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน และยอดขายรอการส่งมอบจำนวนมากที่ช่วยสนับสนุนรายได้ของบริษัทในอนาคตได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของกลุ่มบริษัทที่อยู่ในระดับปานกลาง ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งได้เพิ่มแรงกดดันให้แก่เศรษฐกิจภายในประเทศให้มีมากยิ่งขึ้นรวมทั้งยังบั่นทอนอุปสงค์ด้านที่อยู่อาศัยอีกด้วย

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

รายได้จากเงินปันผลที่สม่ำเสมอจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ในสัดส่วนถึง 98.23% ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดหมายว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ทั้งนี้ ตามนโยบายการจ่ายเงินปันผลของกลุ่ม บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จะจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้รับเงินปันผลจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ในจำนวน 2 พันล้านบาทในปี 2561 และ 3.8 พันล้านบาทในปี 2562

ณ เดือนมีนาคม 2563 บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท เป็นบริษัทย่อยที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของบริษัท โดยมีขนาดสินทรัพย์ในสัดส่วน 98% ของสินทรัพย์รวมของกลุ่มบริษัท ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกของบริษัทซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในช่วงกลางปี 2564 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงเห็นว่าบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จะยังคงเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของบริษัทต่อไปในระยะปานกลาง

ความเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยเอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 4.4-4.7 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2561 รายได้จากการดำเนินงานรวมลดลง 11% จากปีก่อน โดยอยู่ที่ 4.02 หมื่นล้านบาทในปี 2562 รายได้จากทาวน์เฮ้าส์อยู่ที่ 1.79 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ลดลงจาก 2.3 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2559-2561 รายได้จากบ้านเดี่ยวลดลง 12% จากปีก่อน ในขณะที่รายได้จากคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน

ทั้งนี้ รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทลดลงอย่างมากถึง 40% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยอยู่ที่ 7.2 พันล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 เนื่องจากภาวะชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยและผลกระทบจากฐานรายได้ที่สูงในช่วงไตรมาสแรกของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งประเมินว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจะลดลง 30%-35% ในปีนี้โดยเหลือ 2.5 หมื่นล้านบาท จากนั้นจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นเป็นประมาณ 3.5-4.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 ทริสเรทติ้งเชื่อว่ารายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของกลุ่มบริษัทต่อไปอีกในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่รายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลจะยังมีไม่มากนักและผลขาดทุนที่เกิดขึ้นน่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัท

สินค้าที่มีความหลากหลายภายใต้แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดทาวน์เฮ้าส์ระดับราคาปานกลางถึงต่ำ ทริสเรทติ้งมองว่าสินค้าที่อยู่อาศัยของบริษัทมีความหลากหลายทั้งในแง่ของประเภทสินค้าและระดับราคาซึ่งทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นเป็นอย่างมากในการนำเสนอสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยบริษัทมีทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียมที่ครอบคลุมระดับราคาที่แตกต่างกัน ในส่วนของทาวน์เฮ้าส์นั้นครอบคลุมระดับราคาต่ำถึงปานกลางซึ่งมีราคาขายอยู่ในช่วง 1-5 ล้านบาทต่อยูนิต โดยบริษัทเน้นที่ตลาดระดับราคา 1.5-3 ล้านบาทต่อยูนิตซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในแบรนด์ "บ้านพฤกษา" และ "พฤกษาวิลล์"

ส่วนโครงการบ้านเดี่ยวนั้นครอบคลุมตั้งแต่ระดับราคา 3-10 ล้านบาทต่อยูนิต ซึ่งส่วนใหญ่พัฒนาภายใต้แบรนด์ "ภัสสร" "เดอะแพลนท์" และ "พฤกษาวิลเลจ" ที่ระดับราคา 4-6 ล้านบาทต่อยูนิต ในขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมครอบคลุมตั้งแต่ระดับราคาต่ำถึงสูงซึ่งมีราคาขายตั้งแต่ 40,000 บาทถึง 270,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.)

ณ เดือนเมษายน 2563 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนาประมาณ 200 โครงการซึ่งมีมูลค่าเหลือขายรวม 1.03 แสนล้านบาท (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) โดยโครงการทาวน์เฮ้าส์คิดเป็น 46% ของมูลค่าเหลือขายทั้งหมด ในขณะที่โครงการบ้านเดี่ยวคิดเป็น 28% และคอนโดมิเนียมคิดเป็น 26% บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 2.61 หมื่นล้านบาทซึ่งบริษัทมีแผนจะส่งมอบให้แก่ลูกค้าคิดเป็นมูลค่าจำนวน 8.8 พันล้านบาทในช่วงที่เหลือของปี 2563 มูลค่า 7 พันล้านบาทในปี 2564 มูลค่า 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 และมูลค่า 0.3 พันล้านบาทในปี 2566 ทั้งนี้ ยอดขายรอการรับรู้รายได้เหล่านี้จะช่วยประกันรายได้ส่วนหนึ่งในอนาคตให้แก่บริษัทในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ความท้าทายจากการบริหารสินค้าคงเหลือและต้นทุนให้มีประสิทธิภาพในช่วงที่ความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอตัว บริษัทมีสินค้าสร้างเสร็จคงเหลือมูลค่าประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2563 ทั้งนี้ จากความต้องการที่อยู่อาศัยที่ลดลงจากทั้งผู้ซื้อภายในประเทศและต่างประเทศทำให้คาดว่าบริษัทอาจต้องใช้เวลาที่นานขึ้นในการขายสินค้าสร้างเสร็จเหล่านี้ให้หมด ในปีนี้บริษัทยังจะให้ความสำคัญกับการบริหารสินค้าคงเหลือโดยการควบคุมการก่อสร้างงานในแต่ละขั้นตอน การลดงบประมาณซื้อที่ดิน รวมถึงการขายที่ดินที่ยังไม่ได้พัฒนาอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงเนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายหันมาเน้นการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรมากขึ้นเนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยในตลาดนี้ค่อนข้างแน่นอน ความได้เปรียบในการแข่งขันด้านต้นทุนซึ่งมาจากความสามารถในการผลิตสินค้าได้เร็วนั้นอาจไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทมากนักในช่วงที่ความต้องการที่อยู่อาศัยชะลอตัว นอกจากนี้ แม้อัตราการผลิตของโรงงานคอนกรีตสำเร็จรูปของบริษัทจะลดลง แต่บริษัทก็ยังคงมีค่าใช้จ่ายคงที่ของโรงงานอยู่ จึงทำให้คาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทอาจลดต่ำลงเหลือ 15% จากประมาณ 19%-22% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมในช่วงปี 2559 จนถึง 3 เดือนแรกของปี 2563 ในขณะเดียวกัน อัตรากำไรสุทธิก็อาจลดลงเหลือประมาณ 10% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมจาก 12%-13% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

ความกังวลเกี่ยวกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ว่าธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวมเป็นอย่างมากแต่ก็มีความผันผวนมากกว่าภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศประกอบกับภาวะหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทั่วประเทศเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศ ในขณะเดียวกัน ผลกระทบในด้านลบจากสงครามการค้าโลกและการแข็งค่าของเงินบาทก็ทำให้ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมจากผู้ซื้อต่างชาติชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซื้อชาวจีน

เศรษฐกิจที่ถดถอยลงยิ่งขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีนี้จะยิ่งส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความต้องการที่อยู่อาศัยมากขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงรอดูสถานการณ์อยู่เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยจากทั้งผู้ซื้อภายในประเทศและต่างประเทศต้องหยุดชะงักลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นอกจากนี้ มาตรการจำกัดการเดินทางในหลาย ๆ ประเทศก็ทำให้บริษัทต้องเลื่อนการส่งมอบที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ซื้อต่างชาติออกไปอีก 2-3 เดือนอีกด้วย ทั้งนี้ ณ เดือนเมษายน 2563 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติมูลค่า 8.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 31% ของยอดขายรอการรับรู้รายได้ทั้งหมด โดยประมาณ 2.2 พันล้านบาทของยอดขายรอการรับรู้รายได้ดังกล่าวมีแผนจะส่งมอบให้แก่ลูกค้าภายในปีนี้ ดังนั้น หากมีการเลื่อนการส่งมอบก็อาจทำให้รายได้และกำไรของบริษัทต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้

อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะดำเนินนโยบายที่ระมัดระวังในการเปิดและพัฒนาโครงการใหม่ในช่วงที่ตลาดพัฒนาที่อยู่อาศัยชะลอตัว โดยคาดว่าในปีนี้บริษัทจะเปิดโครงการบ้านจัดสรรมูลค่า 1 หมื่นล้านบาทและโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่า 5 พันล้านบาท ในช่วงปี 2564-2565 คาดว่าบริษัทจะเปิดโครงการบ้านจัดสรรมูลค่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีและโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่า 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี งบประมาณซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 1 พันล้านบาทในปี 2563 และ 3-8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565 และยังคาดว่าบริษัทจะใช้งบลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลอีกประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2564 อีกด้วย

แม้ว่าบริษัทจะยังคงขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเวลาเดียวกับการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล แต่ก็คาดว่าบริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่า 50% หรืออัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนให้ต่ำกว่า 1 เท่าเอาไว้ได้ ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 42% และอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนอยู่ที่ระดับ 0.85 เท่า

สภาพคล่องที่เพียงพอ ตามงบการเงินรวมของ PSH ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดย ณ เดือนมีนาคม 2563 แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 6 พันล้านบาท วงเงินกู้จากธนาคารที่ไม่สามารถยกเลิกได้จำนวน 6.4 พันล้านบาท วงเงินกู้ระยะสั้นที่สามารถยกเลิกได้จำนวน 5.3 พันล้านบาท และที่ดินที่ปลอดภาระค้ำประกันซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีที่จำนวน 6.6 พันล้านบาท นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 2.13 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะสั้นจากธนาคารจำนวน 1.22 หมื่นล้านบาทและหุ้นกู้จำนวน 9.1 พันล้านบาท

สำหรับเงินกู้ระยะสั้นนั้น โดยปกติแล้วบริษัทจะใช้วิธีต่ออายุออกไปหรือจ่ายชำระคืน ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติบริษัทสามารถออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ที่จะครบกำหนดชำระและให้เงินกู้ยืมระหว่างบริษัทแก่ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ได้ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลดลงต่อตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็อาจทำให้มีความเสี่ยงในการต่ออายุหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดของกลุ่มบริษัทได้เช่นกัน ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะมีวงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ไม่สามารถยกเลิกได้ที่เพียงพอสำหรับการจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า

บริษัทจำเป็นจะต้องรักษาอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้โดยบริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุน (ตามงบการเงินรวม) ไม่ให้เกินกว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมีนาคม 2563 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.85 เท่า ในการนี้ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถบริหารโครงสร้างทางการเงินให้สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าวต่อไปได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

สมมติฐานกรณีพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 มีดังนี้

-บริษัทจะเปิดโครงการบ้านจัดสรรมูลค่า 1 หมื่นล้านบาทและโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่า 5 พันล้านบาทในปี 2563 และคาดว่าบริษัทจะเปิดโครงการบ้านจัดสรรมูลค่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีและโครงการคอนโดมิเนียมมูลค่า 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565

-รายได้จากการดำเนินงานรวมคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และน่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 3.5-4.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565

-งบประมาณซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 1 พันล้านบาทในปี 2563 และ 3-8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2565

-บริษัทจะใช้เงินลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2564

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานตามที่คาดการณ์เอาไว้ได้ อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทย่อยจะสามารถส่งมอบยอดขายที่อยู่อาศัยที่รอรับรู้รายได้จำนวนมากได้ตามแผน แม้ว่าความต้องการที่อยู่อาศัยจากทั้งผู้ซื้อภายในประเทศและต่างประเทศจะชะลอตัวประกอบกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทริสเรทติ้งก็ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินให้อยู่ที่ระดับประมาณ 10% เอาไว้ได้ในปีนี้ อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะดีขึ้นเป็น 15%-20% ในช่วงปี 2564-2565 นอกจากนี้ บริษัทจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้ต่ำกว่าระดับ 50% เอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของกลุ่มบริษัท หากการลงทุนในธุรกิจใหม่ประสบผลสำเร็จก็จะส่งผลดีต่อกลุ่มบริษัท ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากผลการดำเนินงานของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ต่างไปจากที่คาดการณ์ไว้อย่างมีนัยสำคัญ และ/หรือการลงทุนในธุรกิจใหม่ของบริษัทฉุดให้สถานะทางการเงินของกลุ่มบริษัทอ่อนแอลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ