BCP คาดผลงาน H2/63 ดีกว่า H1 จากดีมานด์-ราคาน้ำมันฟื้น ,ปริมาณขายทั้งปีลดไม่เกิน 10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 11, 2020 13:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

BCP คาดผลงาน H2/63 ดีกว่า H1 จากดีมานด์-ราคาน้ำมันฟื้น ,ปริมาณขายทั้งปีลดไม่เกิน 10%

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งหลังปีนี้มีทิศทางที่ดีกว่าครึ่งปีแรก ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันและราคาน้ำมัน โดยหลังจากที่สถานการณ์คลี่คลาย และหลายประเทศกลับมาทยอยเปิดเศรษฐกิจ รวมถึงประเทศไทยที่ทยอยคลายล็อกมาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดกั้นโควิด ก็คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันและทิศทางราคาจะฟื้นตัวขึ้น

ทั้งนี้ ประเมินว่าปริมาณขายน้ำมันทั้งปี 63 จะลดลงไม่เกิน 10% จากปีที่แล้ว โดยในไตรมาสแรกปริมาณขายลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปริมาณขายลดลงมากสุดในเดือนเม.ย.ราว 20% แต่หลังจากที่รัฐบาลเริ่มทยอยคลายล็อกเฟส 3 ตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย. ทำให้ปริมาณขายกลับมาอยู่ในระดับ 95% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน หรือมีปริมาณขายลดลงไปราว 5% เท่านั้น ทำให้ทั้งไตรมาส 2/63 ปริมาณขายน้ำมันน่าจะลดลงไปราว 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ปกติบริษัทมีปริมาณขายน้ำมันรวม 400-500 ล้านลิตร/เดือน ในส่วนนี้เป็นปริมาณขายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันราว 340-350 ล้านลิตร/เดือน

นอกจากนี้แม้ล่าสุดทิศทางราคาน้ำมันเริ่มฟื้นตัวขึ้น แต่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะทำให้ในไตรมาส 2/63 มีผลกำไรจากสต็อกน้ำมันหรือไม่ หลังจากที่ในช่วงไตรมาสแรก มีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันราว 3.4 พันล้านบาท ส่งผลให้ผลการดำเนินในไตรมาส 1/63 ขาดทุนสุทธิ 4.66 พันล้านบาท ขณะที่จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ดีขึ้นทำให้คาดว่าค่าการกลั่น (GRM) ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน ในไตรมาส 2/63 น่าจะใกล้เคียง หรือสูงกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับ 2.87 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในไตรมาส 1/63

อย่างไรก็ตาม ทั้งปี 63 ยังไม่สามารถประเมินราคาน้ำมันและค่าการกลั่นได้ แต่เบื้องต้นคาดหวังว่าจากการทยอยคลายล็อกมาตรการเข้มงวดสกัดโควิด-19 ก็จะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกกลับคืนมา และล่าสุดก็ได้ข่าวว่าหลายโรงกลั่นขนาดเล็กในภูมิภาคอาจจะปิดตัวถาวรจากที่ไม่สามารถแข่งขันได้ เช่น ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น ก็จะช่วยผลักดันราคาและค่าการกลั่นให้ดีขึ้น

"ผลงานครี่งปีหลังต้องดีกว่าครึ่งปีแรก 100% ไตรมาสแรกเรามีขาดทุน และมี stock loss ค่อนข้างเยอะ ไตรมาส 3 ปกติเป็นโลว์ซีซั่น เพราะเป็นหน้าฝนคนไม่ค่อยเดินทาง แต่เป็นช่วงที่เราปลดล็อกก็ต้องดูว่าการบริโภคจะเป็นอย่างไร เราก็คอยมอนิเตอร์ตลอด"นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ หยุดชะงักในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อแผนการเปิดสถานีบริการน้ำมันใหม่ของบริษัทในปีนี้ที่คาดว่าจะลดลงราว 10% มาอยู่ที่ 54-55 แห่ง จากแผนที่จะเปิดทั้งหมด 60 แห่งในปีนี้ รวมถึงกระทบการใช้กำลังการกลั่นที่ลดลงจากแผนประมาณ 20% ในปีนี้ด้วย ตามปริมาณการใช้น้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ตามล่าสุดในเดือนมิ.ย. บริษัทกลับมากลั่นน้ำมันในระดับ 90% จากกำลังการกลั่นเต็มที่ 1.2 แสนบาร์เรล/วัน ขณะเดียวกันความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานที่ลดลงทำให้บริษัทลดการกลั่นน้ำมันอากาศยานลงเหลือในระดับไม่มากนัก เมื่อเทียบกับปกติที่มีการกลั่นในสัดส่วน 10-11% โดยหันมากลั่นน้ำมันดีเซลทดแทน เพราะยังเป็นชนิดน้ำมันที่ยังมีความต้องการใช้อยู่มาก

พร้อมกันนี้บริษัทได้ปรับตัวเพื่อรักษาสภาพคล่อง โดยการปรับลดงบลงทุนในปีนี้และเลื่อนโครงการลงทุนที่ไม่จำเป็นออกไป รวมถึงเลื่อนแผนการซ่อมบำรุงประจำปีสำหรับในปีนี้ไปเป็นปีหน้า แต่ในส่วนของการดำเนินโครงการปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 นั้น ยังเป็นไปตามแผน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุนที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ และจะเริ่มหาผู้รับเหมาและก่อสร้างในปีหน้า เพื่อให้แล้วเสร็จทันกับการบังคับใช้ของภาครัฐในปี 66

นอกจากนี้ในส่วนโครงการปิโตรเลียมของกลุ่มบางจาก ผ่านบริษัท OKEA ที่นอร์เวย์นั้น แม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำราว 15 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่เมื่อรวมกับภาระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ในไตรมาสแรกที่ผ่านมาทำให้มีผลขาดทุน แต่ล่าสุดรัฐบาลนอร์เวย์ได้ออกกฎหมายที่จะจ่ายภาษีคืนเป็นเงินสดให้กับบริษัทที่ขาดทุน ก็จะทำให้ OKEA ได้รับภาษีกลับคืนมาราว 70-80 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัท

ส่วนการที่ซาอุดีอาระเบียปรับราคาขายน้ำมันดิบในตลาดเอเชียล่าสุดแบบมีส่วนเพิ่ม จากเดิมที่มีส่วนลดนั้นบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากบริษัทไม่ได้รับน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบีย แต่เป็นการซื้อจากในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงการซื้อน้ำมันดิบในประเทศมีสัดส่วนราว 10-15%

สำหรับความคืบหน้าการนำบมจ.บีบีจีไอ (BBGI) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น คาดหวังว่าจะสามารถยื่นแบบเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในปีนี้ ส่วนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อใดนั้น ต้องขึ้นภาวะตลาดหุ้นด้วย

ส่วนการตั้งบริษัทย่อยของ BBGI ในนามของบริษัท บีบีจีไอ ยูทิลิตี้ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด นั้น มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าไบโอแก๊สเพื่อผลิตใช้เองในกลุ่มของ BBGI ขณะที่การเข้าร่วมประมูลในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนของภาครัฐนั้น ทางกลุ่มบางจากก็ให้ความสนใจซึ่งอาจจะเป็นในส่วนของ BBGI หรือบมจ.บีซีพีจี (BCPG) จะเป็นผู้ดำเนินการ

วันนี้ BCP ร่วมกับธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดตัวการพัฒนานวัตกรรมระบบรับชำระค่าสินค้าและบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Bangchak Digital Payment) โดยนำร่องให้บริการที่สถานีบริการน้ำมันบางจาก สาขาสุขุมวิท 62 และสาขาศรีนครินทร์ 1 เมื่อเดือนเม.ย.ทำให้บางจาก เป็นรายแรก ในไทยที่ให้บริการแบบครบวงจรในการรับชำระเงินค่าน้ำมันได้ทั้ง QR Code ผ่าน Mobile Application ของทุกธนาคาร รวมทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต พร้อมสะสมคะแนนในเวลาเดียวกัน ผ่านเครื่อง Mobile EDC ที่เชื่อมโยงกับระบบสมาชิกบางจาก โดยตั้งเป้าขยายบริการระบบ Digital Payment เพิ่มเติมในกรุงเทพฯและปริมณฑลรวม 50 แห่งในสิ้นมิ.ย.นี้ และเพิ่มเป็น 200 แห่งสิ้นปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ