KTC ปรับโมเดลธุรกิจครึ่งปีหลังชู"สินเชื่อพี่เบิ้ม"ควบคู่"ฟิโก้-นาโนไฟแนนซ์"หวังเติบโตยาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 17, 2020 18:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ระบุว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจให้ตอบสนองต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงทั้งของเศรษฐกิจและของอัตราดอกเบี้ยรับที่ลดลง โดยจะให้ความสำคัญกับการขยายตัวของ "สินเชื่อพี่เบิ้ม" ในส่วนที่เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน อาทิ สินเชื่อจำนำทะเบียนทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ควบคู่ไปกับการขยายสินเชื่อพิโก้ไฟแนนซ์และนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่น่าจะมีโอกาสสร้างการเติบโตที่ดีในระยะยาว

เนื่องจากบริษัทมองว่า ในช่วงครึ่งปีหลังต่อจากนี้ การดำเนินธุรกิจของบริษัทยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว และอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง ที่อาจส่งผลต่อการจ้างงาน ความสามารถในกาชำระหนี้ หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนั้นการประกาศใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในระยะที่ 2 ที่ปรับลดเพดานดอกเบี้ยลงทั้งธุรกิจบัตรเครดิต 2% และธุรกิจสินเชื่อบุคคล 3% ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัท

จากการประเมินผลกระทบของสถานการณ์ในไตรมาสสองนี้ หากเหตุการณ์การระบาดไม่ส่งผลถึงระดับที่รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณามาตรการที่เข้มข้นมากอีก เชื่อว่าไตรมาสที่สองนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับผลกระทบในด้านคุณภาพสินทรัพย์มากที่สุดแล้ว ฝ่ายจัดการเชื่อมั่นว่าจะดูแลรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อไว้ให้ได้ดีที่สุด

KTC ระบุในคำชี้แจงผลประกอบการไตรมาส 2/63 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร และการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้โดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นอกจากนี้กระทรวงการคลังและ ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อส หรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งบริษัทก็ได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 มี.ค.63

ต่อมา ธปท.ได้ประกาศเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระยะที่ 2 ลงวันที่ 19 มิ.ย.63 บริษัทจึงได้มีมติอนุมัตินโยบายเพิ่มเติมตามแนวทางของ ธปท. โดยมีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินสำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลตามอัตราที่ ธปท.กำหนดไว้ มีผลตั้งแต่ 1 ส.ค.63

และดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในระยะที่ 2 โดยการขยายขอบเขตและระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่น การเปลี่ยนสินเชื่อเป็นระยะยาว การเลื่อนการชำระค่างวดหรือเงินต้น หรือการลดค่างวด เป็นต้น โดยขยายเวลาไปเป็นสิ้นสุดภายในวันที่ 31 ธ.ค.63 โดยกลุ่มลูกหนี้ที่สมัครเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของบริษัทในการปรับโครงสร้างหนี้ ณ 30 มิ.ย.63 มีจำนวนประมาณ 4,000 ราย มูลหนี้ราว 300 ล้านบาท และมียอดลูกหนี้ที่ขอพักชำระหนี้เพียง 99 ราย

"การดำเนินงานในไตรมาส 2/63 และครึ่งแรกของปี 63 ยังคงความสามารถในการหารายได้และการสร้างผลกำไร แม้ว่าการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบกับคุณภาพสินทรัพย์และปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หากเมื่อสถานการณ์โดยทั่วไปดีขึ้นและมีการผ่อนคลายมาตรการลง ผู้บริโภคได้เริ่มปรับตัวกลับมาใช้จ่ายดีขึ้นตามลำดับ ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 63 บริษัทมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรลดลง 9.6% คิดเป็นมูลค่ารวม 90,613 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราที่ดีกว่าอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 5 เดือน ประกอบกับบริษัทให้ความสำคัญกับการควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงิน และการบริหารคุณภาพพอร์ตลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้หนี้สูญได้รับคืนอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และพอร์ตลูกหนี้ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น"นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานของ KTC ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ TFRS 9 สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.63 มีกำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก 2,790 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/63 เท่ากับ 1,149 ล้านบาท รายได้ดอกเบี้ยรวม (รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) ครึ่งปีเติบโต 10% หรือคิดเป็นมูลค่า 7,247 ล้านบาท สัดส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ลดเหลือ 31.0% เนื่องจากการลดกิจกรรมการตลาดในช่วงเวลาดังกล่าว หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ภายใต้มาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 6.6%

เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้การค้ารวม) เท่ากับ 83,486 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.5 ล้านบัญชี (เพิ่มขึ้น 3.8%) แบ่งเป็นพอร์ตสมาชิกบัตรเครดิต 2,605,461 บัตร (เพิ่มขึ้น 8.3%) เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้บัตรเครดิตและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้บัตรเครดิต)53,242 ล้านบาท ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 90,613 ล้านบาท ลดลง 9.6% NPL บัตรเครดิตตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 5.6% พอร์ตสมาชิกสินเชื่อส่วนบุคคลเคทีซี (รวมสินเชื่อธนวัฏและสินเชื่อเจ้าของกิจการ) เท่ากับ 932,112 บัญชี (ลดลง 7.1%) จากการปิดบัญชีที่ไม่เคลื่อนไหว เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สินเชื่อบุคคลและดอกเบี้ยค้างรับรวม (ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล) 30,244 ล้านบาท NPL สินเชื่อบุคคลตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 อยู่ที่ 8.5%

นอกจากนี้ ตามมาตรฐานใหม่ TFRS 9 บริษัทฯ ยังสามารถทำรายได้รวมครึ่งปี 2563 อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิมกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากรายได้ดอกเบี้ยลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เท่ากับ 7,247 ล้านบาท และมีรายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) เท่ากับ 2,152 ล้านบาท สำหรับค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 7,595 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายบริหารงาน 3,430 ล้านบาท ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (หนี้สูญ 376 ล้านบาท และหนี้สงสัยจะสูญ 3,016 ล้านบาท) เท่ากับ 3,392 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงิน 773 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ