(เพิ่มเติม) BCPG คาด EBITDA ปี 63 โต 20% ลุ้นดีล M&A เพิ่ม,ปักหมุดผลิตไฟในลาวขายเวียดนามหนุนผลงาน 5 ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday July 30, 2020 13:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปี 63 เติบโต 20% จากระดับ 2.58 พันล้านบาทในปีที่แล้ว จากการรับรู้ผลการดำเนินของโครงการพลังน้ำในลาวทั้ง Nam San 3A ที่เข้าซื้อเมื่อเดือนก.ย.62 และ Nam San 3B ที่เข้าซื้อเมื่อเดือน ก.พ.63 อีกทั้งยังมีโอกาสปิดดีลการซื้อกิจการ (M&A) มากกว่า 1 โครงการในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว โดยเฉพาะโครงการโซลาร์ฟาร์เก่า เพื่อนำมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอีกเล็กน้อย ซึ่งจะยังให้ผลตอบแทนการลงทุนอยู่ในระดับที่ดี

ขณะเดียวกันมีแผนขยายการผลิตไฟฟ้าในลาว เพื่อขายไฟฟ้าไปยังเวียดนาม ซึ่งเบื้องต้นมองโอกาสมีศักยภาพรวมกันได้สูงถึง 2,500 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งจะเข้ามาช่วยปิดความเสี่ยงจากโซลาร์ฟาร์มในไทยของบริษัท ที่ได้รับค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (adder) จะทยอยหมดอายุในช่วงปี 3-4 ปีข้างหน้า และการขยายลงทุนดังกล่าวจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือจนถึงปี 68 ที่วางเป้าหมาย COD โรงไฟฟ้าในมือครบ 841.9 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ที่ระดับ 2,200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ COD แล้ว 451.8 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ 1,450 เมกะวัตต์ ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

"แผนที่เราจะต้องปิดเพราะ adder หายไป เราก็ปิดด้วยโครงการพลังงานลม อินโดนีเซียเฟส 3 รีไฟแนนซ์โครงการในอินโดนีเซีย โครงการลาว ไฮโดร โซลาร์ญี่ปุ่น ทำทันภายใน 3 ปีที่จะเอามาปิด gap ได้คือของที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่ต้องกังวล adder หมดใน 3-4 ปีข้างหน้าเรามีอยู่ในมือหมดแล้ว อันนี้แค่ปิด gap adder ยังไม่รวม growth ที่จะเข้ามา

เราเดินทางมาตั้งแต่ปี 2016-2020 อีก 5 ปีข้างหน้าเราจะโต 75% หรือเฉลี่ยปีละ 15-20% ต่อปี ส่วนที่จะ on top เข้ามาก็มาจากการลงทุนลาว-เวียดนาม ศักยภาพอีก 500-1,000 เมกะวัตต์ โซลาร์เมืองไทยที่มีความเป็นไปได้ new energy ที่ทำทั้งเรื่องดิจิทัล District Cooling โอกาสการทำโครงการทั้งใน region ไต้หวัน เกาหลี เป็นเรื่องที่ยังอยู่ในเรดาร์ที่ศึกษา แต่สิ่งที่เป็นตัวตนเราลงมือทำแล้วรอให้เสร็จเท่านั้นเอง"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวว่า พอร์ตกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือส่วนใหญ่อยู่ในลาวที่จะส่งไฟฟ้าป้อนให้กับเวียดนาม หรือ ลาว-เวียดนาม ขณะที่เวียดนามนับว่ามีความต้องการไฟฟ้าค่อนข้างสูง โดยรัฐบาลลาวและเวียดนามมีเอ็มโอยูซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันถึง 5,000 เมกะวัตต์ ทำให้เห็นโอกาสดังกล่าวค่อนข้างมาก

โดยการลงทุนของบริษัทจะไม่เข้าไปลงทุนในเวียดนามโดยตรง เพราะไม่ต้องการเผชิญกับการแข่งขันมาก ขณะที่การลงทุนในลาวแล้วส่งไฟฟ้าไปยังเวียดนาม น่าจะมีผลตอบแทนที่ดีกว่าทั้งในส่วนรายได้ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ยาวนานกว่า และโครงการมีศักยภาพการกู้เงินที่ดีกว่าการทำโครงการในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องบริหารพอร์ตเพื่อไม่ให้อิงประเทศใดประเทศหนี่งมากเกินไปด้วยเช่นกัน

สำหรับในลาว มองศักยภาพโครงการไฟฟ้ามากถึง 2,500 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 โครงการพลังน้ำทางตอนเหนือ รวม 114 เมกะวัตต์ คือ Nam San 3A ขนาด 69 เมกะวัตต์ และ Nam San 3B ขนาด 45 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน COD จ่ายไฟฟ้าภายในประเทศ ก่อนจะเริ่มส่งไฟฟ้าไปเวียดนามในปี 65 ภายหลังจากที่บริษัทก่อสร้างสายส่ง 230 กิโลโวลต์ (kV) แล้วเสร็จ โดยศักยภาพสายส่งดังกล่าวเพียงพอที่จะรองรับการส่งไฟฟ้าได้ถึง 500 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทมองโอกาสที่จะก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม 100-200 เมกะวัตต์ทางตอนเหนือของลาว คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี และอาจจะมีโครงการพลังน้ำขนาดเล็กอื่น ๆ ในบริเวณทางตอนเหนือที่จะมาใช้สายส่งเพื่อส่งไฟฟ้าไปยังเวียดนามด้วย

ส่วนทางตอนใต้ของลาว ปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 600 เมกะวัตต์ ที่บริษัทร่วมทุน 45% กับพันธมิตร ทำให้มีกำลังการผลิตตามสัดส่วน 270 เมกะวัตต์ แต่ในอนาคตคาดว่าการถือหุ้นจะเพิ่มเป็นระดับ 50% โดยโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับเวียดนาม คาดว่าจะลงนามได้ใน 2-3 เดือนข้างหน้าหรือไม่เกินสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งจะสร้างสายส่งขนาด 500 kV ไปยังเวียดนาม ซึ่งเพียงพอรองรับการส่งไฟฟ้าได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ทำให้มีโอกาสที่บริษัทอาจจะลงทุนโครงการอื่น ๆ เพิ่มในพื้นที่ดังกล่าว หรืออาจมีโครงการของรายอื่นเข้ามาใช้บริการสายส่งดังกล่าวด้วย โดยโครงการน่าจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี

ด้านญี่ปุ่น เป็นโครงการโซลาร์ฟาร์ม ปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วรวม 14.7 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนา 75 เมกะวัตต์ รวม 3 โครงการ คาดว่าจะ COD ได้ในปี 64 ส่วนการจะขายให้กับกองทุนเหมือนโครงการก่อนหน้านี้หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาคงต้องรอดูโอกาสที่เหมาะสมและก่อสร้างให้แล้วเสร็จก่อน และ โครงการในฟิลิปปินส์ เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วรวม 14.4 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนาอีก 5.6 เมกะวัตต์ โดยโครงการมีประสิทธิภาพอยู่ในระดับที่ดีตามกระแสลม และอยู่ระหว่างเจรจาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจาก 13 เซนต์/หน่วยในปัจจุบัน

ขณะที่โครงการในอินโดนีเซีย เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานใต้พิภพ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนที่ COD แล้วรวม 157.5 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างเตรียมสรุปเพื่อพัฒนาเฟส 3-4 อีก 24 เมกะวัตต์ นับเป็นโครงการที่มีเสถียรภาพมาก และอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการอย่างไร โดยเบื้องต้นจะรีไฟแนนซ์หนี้ราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อลดต้นทุนการเงินให้ได้กำไรที่ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้ พร้อมทั้งอยู่ระหว่างเจรจาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าด้วย

นายบัณฑิต กล่าวว่า สำหรับโครงการในไทยมีกำลังการผลิตที่ COD แล้ว 151.2 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการโซลาร์ และพลังงานลม ขณะที่อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโซลาร์อีก 15.5 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมองโอกาสการลงทุนโครงการโซลาร์รุ่นเก่าที่มีผู้เสนอขายออกมามากในช่วงนี้รวมประมาณ 300-400 เมกะวัตต์ หลังจากที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายรายมีความต้องการเงินสดมากขึ้น ซึ่งบริษัทก็จะนำโครงการโซลาร์เก่าดังกล่าวมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์นับว่าถูกลงมาก ทำให้บริษัทน่าจะยังคงได้รับอัตราผลตอบแทนการลงทุนในระดับราว 10% ซึ่งยังคุ้มค่ากับการลงทุน ก็น่าจะสามารถปิดดีลได้ในเร็ววันนี้

"โซลาร์ดูเหมือนไม่มีของใหม่ แต่ของเก่าคนเริ่มทยอยขายออกมา เราก็มีวิธีการที่จะทำของเก่าให้เป็นของใหม่ที่สร้างผลตอบแทนการลงทุนได้อย่างสมเหตุสมผล adder 8 บาท/หน่วยไม่มีแล้ว แต่ค่าไฟ 3 บาทกว่า ๆ against กับเทคโนโลยีโซลาร์รุ่นใหม่ที่ต้นทุนถูกมากในวันนี้ ผมว่าเป็นโอกาส เราดูหลายโครงการ ตอนนี้ที่ขายเห็นอยู่ 300-400 เมกะวัตต์ เร็ว ๆ นี้เราน่าจะปิดดีลได้ IRR Project แตะ 10% บวกลบก็ดีมากแล้วสำหรับ cash flow ที่จะได้และความเสี่ยงประเทศไม่หวือหวา...โครงการเก่าของเราที่จะหมด adder ก็มานั่งดู เป็น case by case บางอันก็เก็บไว้ ที่สำคัญเก็บไปเรื่อยๆ สักพักมัดเข้ากองทุนก็เป็น innovation ทางการเงินอีกทางหนึ่ง"นายบัณฑิต กล่าว

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ในไทยยังมีโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งกลุ่ม บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) มองการลงทุนใน 10 โรง รวม 30 เมกะวัตต์ แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากนโยบายภาครัฐก่อน รวมถึงโอกาสการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานลมอีก 90 เมกะวัตต์ตามแผนพลังงานใหม่ หรือโอกาสที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อาจจะนำโครงการพลังงานลมเก่าบริเวณเขาค้อ กำลังการผลิตรวม 100-200 เมกะวัตต์ ที่ยึด PPA กลับคืนไปแล้วออกมาประมูลใหม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสในด้านงานนวัตกรรมพลังงานใหม่ เช่น งานระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ที่ล่าสุดได้รับงานของโครงการ"เมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ" (Chula Smart City) ก็ยังมีโอกาสพัฒนาในโครงการอื่น ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ในพื้นที่พาณิชยกรรมขนาดใหญ่ หรือสวนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ รวมไปถึงในต่างประเทศที่มีการสร้างเมืองใหม่ อย่างในลาว และเวียดนาม เป็นต้น

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นไม่มีผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว แต่อาจจะกระทบต่อโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เพราะทำให้การเข้าพื้นที่ทำได้ลำบากก็อาจจะมีบางโครงการที่ล่าช้าไปเล็กน้อย อย่างในญี่ปุ่นที่อาจจะสุดไปบ้างในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่มีการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นเลื่อนกำหนดการ COD

ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายใช้เงินลงทุนราว 4-5 หมื่นล้านบาท ในช่วง 5 ปี (ปี 63-67) เพื่อรองรับพัฒนาโครงการในมือและโครงการใหม่ ๆ ที่จะเข้ามา โดยแหล่งเงินลงทุนจะมาจากเงินกู้ หรือการออกหุ้นกู้ แล้วแต่โอกาสที่เหมาะสม รวมถึงกระแสเงินสดในรูป EBITDA ที่จะมีเข้ามาราว 3.0-3.5 พันล้านบาท/ปี ซึ่งน่าจะเพียงพอรองรับต่อการลงทุน

"พอร์ตของ BCPG ในรูปพลังงานที่เข้ามาคิดเป็นกิกะวัตต์ (GWh) ต่อปี ในส่วนนี้มาจากพลังความร้อนใต้พิภพ 57.7% พลังงานลม 2.7% โซลาร์ 13.7% และพลังน้ำ 25.9% พอร์ตผลิตมากกว่า 2,000 GWh ต่อปี เมื่อแปลงเป็น EBITDA ประมาณกว่า 3 พันล้านบาทต่อปี portfolio เรามีความสมดุล...เสน่ห์ของพอร์ตคือสมดุลที่ว่า แต่ความท้าทายคือต้องกระจายไปอยู่ต่างประเทศ ตอนนี้เรา Handle อยู่ 6 ประเทศ 5 เทคโนโลยี คือไทย ลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เราก็จะโฟกัสในเอเชียแปซิฟิก และเทคโนโลยีที่มีอยู่ขนาดนี้ก็ดีแล้ว คนที่จะมาเป็น growth engine ให้เราคือพลังงานลม พลังงานโซลาร์ Geothermal ก็จะนิ่ง ๆ ไม่ได้หากันง่าย ๆ เรื่องของไฮโดร ก็เป็นอะไรที่คงเส้นคงวา วันนี้เรามีโครงการใหญ่คือพลังงานลมในลาว 600 เมกะวัตต์ น่าจะเซ็น PPA ใน 3 เดือน ไม่เกินสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มสร้างสัก 2 ปี ลม 600 เมกะวัตต์ก็จะมาแทนโซลาร์ที่ adder ที่จะเริ่มทยอยหมดตั้งแต่ปี 66"นายบัณฑิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ