กลุ่มแบงก์ขยับขึ้นยกแผงรับจิตวิทยาเชิงบวกจากโอกาสกลับมาจ่ายปันผล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 18, 2020 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กลุ่มแบงก์ขยับขึ้นยกแผง โดยดัชนีกลุ่มแบงก์บวก 1.41% มาอยู่ที่ 279.23 จุด เพิ่มขึ้น 3.89 จุด เมื่อเวลา 14.41 น. นำโดยหุ้น TISCO บวก 2.62% มาอยู่ที่ 68.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 580.17 ล้านบาท

หุ้น TMB บวก 2.06% มาอยู่ที่ 0.99 บาท เพิ่มขึ้น 0.02 บาท มูลค่าซื้อขาย 126.24 ล้านบาท

หุ้น KKP บวก 1.89% มาอยู่ที่ 40.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 82.36 ล้านบาท

หุ้น BBL บวก 1.43% มาอยู่ที่ 106.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 323.27 ล้านบาท

หุ้น SCB บวก 1.38% มาอยู่ที่ 73.25 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 344.95 ล้านบาท

หุ้น KBANK บวก 1.14% มาอยู่ที่ 88.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,080.91 ล้านบาท

บทวิเคราะห์ของ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ประเมินว่า จากกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์แบงก์กลับมาจ่ายเงินปันผลได้ แต่ต้องรอดูผลทดสอบดำเนินธุรกิจในภาวะวิกฤติ (สเตรสเทสต์) ของเดือน ต.ค.นั้น ธนาคารพาณิชย์มีโอกาสสูงที่จะจ่ายปันผลจากผลประกอบการปี 63 ได้เมื่อพิจารณาจากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่แต่ละธนาคารมีอยู่สูงกว่าเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 12% อย่างมาก แต่ไม่มีปันผลระหว่างกาล และเงินปันผลต่อหุ้นจะน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 62 เพราะธนาคารพาณิชย์ต้องสำรองเงินกองทุนไว้รองรับการด้อยค่าของสินทรัพย์และการตั้งสำรองค่าเผื่อฯด้วย

โดยรวมประมาณการว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์ใหญ่จะให้ Dividend yield ราว 3-4% ซึ่งประมาณการว่า SCB จะให้ Yield สูงกว่าแบงค์ใหญ่อื่น รองลงมาเป็น KTB และ BBL ส่วนธนาคารขนาดเล็กจะให้ Yield สูงกว่าที่ 4.5-6% โดย KKP มีความโดดเด่นในเรื่องนี้มากที่สุด สำหรับค่าเฉลี่ย Dividend ของกลุ่มในปี 63 อยู่ที่ประมาณ 4% ลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ย 7% เมื่อคำนวณจากราคาหุ้นในปัจจุบัน

บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ฯ จากรายงาน ธปท. เงินกองทุนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ณ เดือน มิ.ย.63 อยู่ที่ 19.2% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ (minimum requirement) ที่ 12.0% ค่อนข้างมาก แม้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เต็มไตรมาส

หากพิจารณาเงินกองทุนรายธนาคาร ณ สิ้นไตรมาส 1/63 (ข้อมูลไตรมาส 2/63 ของรายธนาคารต้องรองบสอบทาน ซึ่งจะทยอยประกาศภายในวันที่ 20 ส.ค.) พบว่ามีเงินกองทุน 17%-21% ซึ่งธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) มีเงินกองทุนต่ำสุดที่ 17.2% ขณะที่ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) มีเงินกองทุนสูงสุดที่ 20.7%

หากพิจารณา stress test พบว่าเงินกองทุน ณ ปัจจุบันของธนาคารมีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ สามารถรองรับผลขาดทุนได้มากถึง 7.2 หมื่นล้านบาท-1.3 แสนล้านบาท ดังนั้น เงินกองทุนของกลุ่มธนาคารถือว่ามีความแข็งแกร่งมาก มีความสามารถจ่ายปันผลได้

อย่างไรก็ดี คงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคารที่ NEUTRAL พร้อมกับเลือก ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ("ซื้อ"เป้า 120 บาท) และ TISCO ("ซื้อ"เป้า 80 บาท) เป็น Top pick ของกลุ่มฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ