ทรีนีตี้ มอง SET ก.ย.แกว่งลงจากถูกหั่น EPS แนะกันเงินสดรอซื้อช่วงปรับฐาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 31, 2020 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทรีนีตี้ มอง SET ก.ย.แกว่งลงจากถูกหั่น EPS แนะกันเงินสดรอซื้อช่วงปรับฐาน

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในช่วงเดือน ก.ย.63 ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) มีโอกาสที่จะปรับตัว Sideways ถึง Sideways down หลังนักวิเคราะห์ปรับลดประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยประมาณการ EPS ปี 64 ณ ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 76.7 บาทต่อหุ้น

หากอิงกับ PE Model ของทรีนีตี้ ซึ่งมีกรอบบนของ Forward PE อยู่ที่ 16.8 เท่า จะได้ว่าระดับดัชนี SET ที่เหมาะสมในกรณีดีสุดจะอยู่เพียงแค่ 1,290 จุดเท่านั้น ซึ่งหากเทียบเคียงกับดัชนีปัจจุบัน จะเห็นว่ามี Downside risk อยู่ จึงประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสแกว่งตัวอิงทางลงมากกว่าในเดือนนี้

ทั้งนี้ แนะนำให้กันเงินสดไว้ส่วนหนึ่งเพื่อรอซื้อในช่วงดัชนีย่อตัวหรือปรับฐาน โดยให้กรอบการเคลื่อนไหวของ SET Index ในเดือน ก.ย.ที่ 1,270 -1,340 จุด โดยหุ้นขนาดกลาง-เล็กมีโอกาส Outperform ต่อไป

"ขณะนี้การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ไม่ใช่จังหวะการลงทุนที่ปลอดภัยมากนัก เพราะ Earning Yield Gap ของ SET ทำจุดต่ำสุดครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเทียบเคียงกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยหรือสหรัฐฯเองก็ตาม ซึ่งทำให้ช่วงถัดไปอาจเห็นการโยกย้ายเม็ดเงินออกจากตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ทั้งไทยและเทศมากขึ้น"นายณัฐชาต กล่าว

นายณัฐชาต กล่าวว่า การลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจโตต่ำ หรือบางประเทศถึงขั้นติดลบส่งผลให้นักลงทุนแสวงการลงทุนในหุ้น Growth stock หรือหุ้นเติบโต โดยนักลงทุนยอมที่จะจ่ายค่าพรีเมี่ยมให้กับหุ้นเหล่านี้ ด้วยเหตุนี้จะเห็นว่าหุ้นเติบโต ซึ่งในกรณีของไทยมักเป็นหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กจึงเป็นธีมการลงทุนหลักในตลาดโลก ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าหุ้น Value stock หรือหุ้นที่มีมูลค่าถูกในช่วงนี้ ทั้งนี้ ทรีนีตี้คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป ตราบใดที่เศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัวอย่างแท้จริง

"ตอนนี้หุ้นไทยไม่ได้อยู่ในสายตานักลงทุนต่างประเทศเลยเพราะหุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 ถูกปรับลดประมาณการ EPS ลงมาต่อเนื่อง แถมปีหน้าจะโตเพียง 20% เท่านั้น แต่ทว่าในทางกลับกัน หุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในดัชนี sSET กลับได้รับการปรับประมาณการเพิ่มจากนักวิเคราะห์ในตลาด จนทำให้ Forward PE ปัจจุบันของหุ้นกลุ่มนี้อยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและถูกว่า Forward PE ของหุ้นขนาดใหญ่อีกด้วย"

นายณัฐชาต กล่าวว่า สำหรับการลงทุนในเดือน ก.ย.63 แนะนำให้รอจังหวะดัชนีย่อตัวลงมาที่บริเวณแนวรับเพื่อเข้าสะสมหุ้นขนาดกลาง-เล็กที่มีธีมการลงทุนน่าสนใจ แบ่งออกเป็น 5 ธีมดังนี้ 1. กลุ่มบริหารหนี้ที่ได้ประโยชน์จากหนี้เสียที่มีแนวโน้มสูงขึ้น แนะนำ JMT และ CHAYO 2. กลุ่มบรรจุภัณฑ์ที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบราคาถูก และอิงกับสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งได้รับผลกระทบน้อย หากเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว แนะนำ SFLEX, PTL, BGC, UTP

3. กลุ่มปั๊มน้ำมัน ซึ่งได้ประโยชน์จากค่าการตลาดที่ทรงตัวในระดับสูง และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ แนะนำ PTG 4. กลุ่มถุงมือยาง ที่มียอดการส่งออกแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าสามารถหาจังหวะการเข้าซื้อได้ในช่วงที่มีข่าวดีเรื่องวัคซีนต้านโควิด-19 ออกมา แนะนำ STGT

และ 5. หุ้นอื่น ๆ มี Earnings momentum เชิงบวกในช่วงครึ่งปีหลัง อาทิ ILINK, PRM, TKN, TPCH เป็นต้น

ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในเดือน ก.ย.ก็คือ ตัวเลขภาคการผลิตทั่วโลก หากตัวเลขดีอาจเป็น Sentiment เชิงบวกกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างเช่นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ต้องติดตามการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะมีคิวการประชุมกันอย่างหนาแน่นในเดือนนี้

ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศ ติดตามประเด็นทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและงบประมาณ และการชุมนุมของกลุ่มคนต่างๆ สุดท้าย ต้องติดตามความเป็นไปได้ในการต่ออายุมาตรการควบคุมการชอร์ตเซลของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถ้าหากถูกยืดออกไปจากจากที่จะครบกำหนดอายุในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ก็อาจทำให้การปรับฐานแรง ๆ ของดัชนีนั้นยังเป็นเรื่องที่ยากอยู่เช่นเดิม

นายณัฐชาต กล่าวว่า ทรีนีตี้ ให้ความสำคัญเรื่อง Asset Allocation มาอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้ช่วงต้นปีแนะนำการลงทุนในทองคำราว 10% ของพอร์ตการลงทุนรวม แต่เมื่อทองคำปรับตัวทะลุระดับ 2,000 เหรียญฯต่อออนซ์ จึงแนะนำให้ลดน้ำหนักลงมาเหลือ 5% อย่างไรก็ตาม ล่าสุดหลังราคาหลุดต่ำกว่า 2,000 เหรียญฯต่อออนซ์อีกครั้ง จึงแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักอีกครั้งหนึ่งมาอยู่ที่สัดส่วนราว 5-10% ของพอร์ต

ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในทองคำยังคงมีความน่าสนใจ จากแนวนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ที่จะยังคงผ่อนคลายต่อเนื่อง รวมถึงมีการปล่อยให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มทะลุระดับ 2% ได้ในบางช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรแท้จริงอยู่ในระดับติดลบต่อไป ทั้งนี้ ประเมินภาวะฟองสบู่ในทองคำจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าราคาทองคำจะขึ้นไปที่ระดับ 2,166 เหรียญฯต่อออนซ์ ซึ่งเป็นราคาที่เทียบเท่าจุดสูงสุดในยุค 1980 (พ.ศ.2523) ในมิติของราคาทองคำแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ