ตลท.เล็งปรับรูปแบบจัดงาน Thailand Focus เป็น Face to Face ควบคู่ virtual หลังนักลงทุนขาประจำหาย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 2, 2020 16:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สรุปผลการจัดงาน Thailand Focus 2020 : Resiliency to Move Forward รูปแบบ virtual conference ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 26-28 ส.ค.63 ว่า มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหม่ที่เข้ามาร่วมงานเป็นครั้งแรก

แต่ขณะเดียวกันนักลงทุนรายเดิมบางกลุ่มที่เคยเข้าร่วมงานมาต่อเนื่องมีจำนวนลดลง เนื่องจากรูปแบบการจัดงานครั้งนี้ไม่ได้เปิดให้พบปะกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยโดยตรงเพื่อสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งในจุดนี้ทาง ตลท.จะนำไปปรับปรุง เพื่อตอบโจทย์ทั้งนักลงทุนรายใหม่และรายเดิม เช่น การจัดงานในอนาคตอาจจะต้องมีทั้งรูปแบบ virtual conference และ Face to Face ควบคู่กัน

ขณะที่นักลงทุนได้ให้ความสนใจกับนโยบายภาครัฐ โดยช่วงเช้ามีผู้เข้าฟังการปาฐกถาพิเศษของนายปรีดี ดาวฉาย อดีต รมว.คลัง เกือบ 14,000 ราย แบ่งเป็น บนแพลตฟอร์ม Facebook 10,000 ราย และ YouTube อีก 3,500 ราย ขณะที่ช่วงบ่ายมีผู้เข้าฟังรวม 11,000 ราย แบ่งเป็น บน Facebook จำนวน 9,000 ราย และ YouTube จำนวน 2,000 ราย

นายภากร กล่าวว่า ตลท.จะเดินหน้าจัดงาน Thailand Focus ในรูปแบบ virtual conference ในปีนี้ 2 ครั้ง ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในเดือน พ.ย.นี้

ด้านนายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลท.กล่าวว่า ประเด็นที่นักลงทุนสถาบันได้ให้ความสนใจอย่างมากในงาน Thailand Focus 2020 ในครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับธุรกิจของ บจ.และทิศทางต่อไปในอนาคตในไตรมาส 3/63 และไตรมาส 4/63 และภาพรวมเศรษฐกิจไทย มาตรการหรือนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว, 14 วัน Quarantine จะมีผลกระทบอย่างไร, เรื่องภูเก็ตโมเดล, แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้และปีหน้า ทางผู้ประกอบการมองอย่างไร, ผลกระทบจากค่าเงินบาท, ความแข็งแกร่งภาคการเงินของไทย และแนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ในครึ่งปีหลังนี้รวมถึงปีหน้า

นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจในเรื่องของการปรับตัวของ บจ.ไทยทั้งในช่วงล็อกดาวน์และหลังล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ, การปรับเปลี่ยน Business model ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคแนวใหม่ เช่น เรื่องของดิจิทัลเทคโนโลยี, e-commerce, การทำ Digital lending โดยเฉพาะในภาคธุรกิจการเงิน และเรื่องของ insurtech ในธุรกิจประกัน, Cloud kitchen ในธุรกิจการให้บริการด้านอาหาร รวมถึงที่เกี่ยวกับธุรกิจเฮลแคร์ และการทำ delivery ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค

รวมทั้งแนวโน้มการใช้ทุนในอนาคตของ บจ.ไทย (CAPEX plan) ที่เกี่ยวกับธุรกิจโดยตรง ทั้งการขยายกิจการ การควบรวมกิจการ เป็นต้น ผลกระทบจากการลงทุนในต่างประเทศของ บจ. ซึ่งในส่วนนี้ มองว่า บจ.ไทยส่วนใหญ่มีการลงทุนในอาเซียนค่อนข้างมาก โดยในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา 2 ไตรมาสของปีนี้ จะเห็นว่าในอาเซียนและ CLMV แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ยังเป็นบวก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ GDP ติดลบ

"นักลงทุนได้ให้ความสนใจอย่างมากในเรื่องเศรษฐกิจในภาพรวม และการปรับตัวในช่วงโควิด-19 และ Going Forword ในอีก 2 ไตรมาส ข้างหน้า"นายแมนพงศ์ กล่าว

นายภากร กล่าวเสริมว่า จากข้อสรุปข้างต้น พบว่าสิ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจ จะเป็นเรื่องของผลกระทบที่มีต่อ บจ.ไทยจากปัจจัยภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด-19 หรือการค้าต่างๆ ว่าจะกระทบกับความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ แต่ประเด็นที่เกี่ยวกับภายในประเทศ มีค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของผลกระทบจากต่างประเทศ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับ Macro pictures

ส่วนประเด็นการเมืองในประเทศถือเป็นประเด็นคำถามที่มีน้อยมาก เนื่องด้วยรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจไว้อยู่แล้ว ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสูบฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ขณะที่การลาออกจาตำแหน่ง รมว.คลังของนายปรีดีย ก็ต้องติดตามดูต่อว่าจะเป็นใครมาแทน

พร้อมกันนี้ อุตสาหกรรมที่นักลงทุนสถาบันให้ความสนใจเป็นพิเศษ มองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เทคโนโลยี บรรณจุภัณฑ์หรือหีบห่อ (แพ็คเกจจิ้ง) เฮลธ์แคร์ การเกษตร เป็นต้น เช่น การเกษตร ฟื้นตัวมาแล้ว 48%, อิเล็กทรอนิกส์ 63%, วัสดุบ้าน ก่อสร้าง ฟื้นตัวแล้ว 3%, แพ็กเกจจิ้ง 33% และกระดาษ 51% ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มที่นักลงทุนเข้ามาขอ meeting กับบริษัทจดทะเบียนไทยค่อนข้างมาก

ขณะที่การฟื้นตัวของ บจ.ไทย มองว่ามีการปรับตัวใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1. การปรับผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับผู้บริโภคยุคใหม่ เช่น เน้นในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น 2. การปรับโครงสร้างการทำงาน โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาทำงานมากขึ้น 3. การให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน และ 4. การบริหารสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้

นายภากร กล่าวอีกว่า แผนการดำเนินงานของ ตลท.ที่ผ่านมาถือว่าค่อนข้างครอบคลุมกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่จะโฟกัสต่อไปคือ จะทำให้รวดเร็วขึ้นใน 2 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. ผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะต้องหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่มีเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในประเทศไทย หรือมีเฉพาะที่เกี่ยวกับหุ้น โดยจะทำอย่างไรให้มีผลิตภัณฑ์ทั้ง หุ้นไทยและต่างประเทศ, ตราสารหนี้ภาคเอกชนและภาครัฐ, กองทุนทั้งไทยและต่างประเทศ, ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเงินบาทและเงินสกุลต่างประเทศ เป็นต้น

2. ส่งเสริมการลงทุนในสตาร์ทอัพ หรือฟินเทคต่างๆ โดยมองว่าองค์ประกอบของตลาดทุนไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าจะถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจที่ได้ประโยชน์จาก New Normal เช่น อาหาร, ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, โลจิสติกส์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะเติบโตมากขึ้นในไทย จากปัจจุบันประกอบด้วย ภาคบริการ 20-30%, กลุ่มพลังงาน 20-25%, ธนาคารพาณิชย์ราว 10%, เทคโนโลยีราว 10% และอสังหาริมทรัพย์ราว 10%

นายแมนพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของผู้ที่จะมาออกหลักทรัพย์ใหม่นั้น ทาง ตลท.ได้มีการทำโฟกัสในแง่ของอุตสาหกรรมที่ต้องการสนับสนุน และเป็นอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศไปในอนาคต รวมถึงปรับปรุงเกณฑ์บางอย่างให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นมีโอกาสได้เข้าถึงตลาดทุนไทย

อีกทั้งปัจจุบัน ตลท.ยังได้ร่วมกับก.ล.ต. ศึกษาทำแพลตฟอร์มเพิ่มอีก 1 แพลตฟอร์ม เพื่อให้ SME และ สตาร์ทอัพ เข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคราวด์ฟันดิง โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นทั้งการช่วยให้ SME และสตาร์ทอัพให้มีการเติบโตมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการระดมทุน รวมถึงจะมีเรื่องของการซื้อขายหุ้นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาถึงกฎระเบียบ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นการเข้าไปส่งเสริมให้ธุรกิจดังกล่าวมีการเติบโต มีกำไรนั้นสามารถดำเนินการได้เลย เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องกับการระดมทุน แต่ในเรื่องของการซื้อขายหรือระดมทุน คาดว่าก.ล.ต.จะอนุญาตให้ดำเนินการได้กลางปี 64

ส่วนภาพรวมการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในช่วงเดือนก.ย.-ต.ค.นี้ ยังคงมีอีกหลายบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต.ก็ได้มีการอนุญาตให้บริษัทที่ต้องการเสนอขาย IPO เข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้วราว 20 ราย และปัจจุบันที่มีบริษัทที่เข้าไปซื้อขายแล้วรวม 7 รายนับตั้งแต่ต้นปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ