BJC รับมือวิกฤติปรับการพัฒนาบริการ-ลดค่าใช้จ่าย แต่ไม่ปิดโอกาสลงทุนใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 23, 2020 18:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) กล่าวว่า การบริหารธุรกิจในช่วงเกิดภาวะวิกฤติจะต้องเน้นไปที่การเกาะติดสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อวางแผนรับมือ พร้อมทำงานร่วมกับทีมงาน และทำการสื่อสารไปให้กับคนในองค์กรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนให้ได้รับทราบ เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ ทำให้ทุกคนสามารถเตรียมความพร้อมในการรองรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

การวางแผนของ BJC ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และการล็อกดาวน์ที่ผ่านมาได้มีการเกาะติดสถานการณ์ และการลงรายละเอียดร่วมกับทีมงานของบริษัท เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ดูปัจจัยต่าง ๆ ที่จะเข้ามากระทบ โดยใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่บริษัทมีในการประเมิน เพี่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัวของบริษัททั้งด้านการผลิต การบริการลูกค้า และด้านกระแสเงินสด ซึ่งเป็น 3 ปัจจัยที่ BJC ให้ความสำคัญ

"ธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมที่เกิดขึ้น เป็นการช่วยให้ธุรกิจสามารถตั้งลำได้ BJC เป็นองค์กรที่อยู่มานาน 138 ปีผ่านวิกฤติในอดีตมาหลายครั้ง ทำให้เราเรียนรู้ และเราต้องมองโลกผ่านสายตาของเรา ต้องเกาะติดสถานการณ์และใช้การสื่อสารเพื่อให้เกิดการรับรู้และทำให้ทุกคนเตรียมความพร้อม BJC เป็นองค์กรที่ต้องส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพใช้ในชีวิตประจำวัน ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เราต้องคำนึงถึงการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญ"นายอัศวิน กล่าว

ขณะที่แนวโน้มพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าหลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเดินเลือกซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ค่อนข้างนานเฉลี่ย 45 นาที แต่ปัจจุบันความกังวลเรื่องโควิด-19 ทำให้การใช้เวลาอยู่ในห้างฯขนาดใหญ่สั้นลง ลูกค้ารีบซื้อและรีบกลับ ทำให้การออกแบบการบริการและการพัฒนาสาขาใหม่ ๆ จะต้องเปลี่ยนเป็นรูปแบบขนาดที่กระทัดรัดมากขึ้น การเลือกสินค้าและชำระเงินใช้เวลารวดเร็วตามพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทาง BJC ได้มีการพัฒนาบริการต่าง ๆ ออกมาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า

อย่างไรก็ตามในภาวะวิกฤติผู้ประกอบการควรลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพราะผู้ประกอบการเป็นผู้ที่สร้างธุรกิจขึ้นมากับมือเอง ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทราบรายละเอียดของธุรกิจที่ดีที่สุดกว่าพนักงานคนอื่น ถ้าผู้ประกอบการลงลึกในรายละเอียดของปัญหา ก็จะทำให้ทราบถึงสาเหต ของปัญหา และสามารถหาแนวทางเข้ามาแก้ปัญหาและหาทางออกให้กับธุรกิจเองได้ พร้อมกับการสร้างสมดุลระยะสั้นและระยะยาวให้กับธุรกิจ โดยที่ในระยะสั้นผู้ประกอบการอาจจะลดการลงทุน และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามความเหมาะสม แต่ไม่ปิดโอกาสในการลงทุนใหม่ ๆที่เห็นว่าจะเข้ามาต่อยอดและเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจในระยะยาวได้

"องค์กรธุรกิจเจอปัญหาไม่แตกต่างกัน แต่การทำธุรกิจต้องสนใจในรายละเอียด เราต้องลงมาดูเอง เหมือนกับสิ่งที่เราทำเองกับมือ ถ้าเราทำเองขึ้นมา เราก็รู้ว่าปัญหาคืออะไร เราก็สามารถแก้ปัญหามันได้ และก็อย่าปิดกั้นโอกาสในระยะยาวมากเกินไป เหมือนกับท่อน้ำที่น้ำยังต้องไหลไปต่อเรื่อย ๆ ถ้าเราปิดท่อให้น้ำไม่ไหล น้ำก็ไม่มีทางไปต่อได้ ก็เหมือนธุรกิจที่ไม่สามารถขยายการเติบโตต่อได้"นายอัศวิน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ