(เพิ่มเติม) ศาลปกครองไต่สวนครั้งแรกคดี BTS ฟ้องกรณีเปลี่ยน TOR รถไฟฟ้าสายสีส้ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 14, 2020 14:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนครั้งแรกวันนี้กรณีที่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทีโออาร์โครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยนำข้อเสนอทางด้านเทคนิคมาให้คะแนนควบคู่กับข้อเสนอราคาหลังจากเปิดขายซองประมูลไปแล้ว ทำให้ BTSC ได้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารเพิ่มเติมการเปลี่ยนแปลงทีโออาร์ดังกล่าว และขอให้คุ้มครองฉุกเฉินให้ระงับการประมูล

ทั้งนี้ การฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางโครงการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 63 ครม.เห็นชอบใช้รูปแบบการประมูลดังกล่าวด้วย PPP Net Cost

ต่อมาวันที่ 10 ก.ค. 63 รฟม.เปิดจำหน่ายเอกสารจัดทำข้อเสนอ ซึ่งมีผู้ซื้อซองข้อเสนอทั้งหมด 10 ราย

วันที่ 7 ส.ค. 63 บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ซื้อซองเอกสารร่วมประมูลทำหนังสือขอเปลี่ยนแปลง TOR (ข้อเสนอเทคนิคควบคู่ราคา)

วันที่ 13 ส.ค. 63 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทำหนังสือถึง รฟม. พิจารณาหนังสือ ITD

ต่อมาวันที่ 21 ส.ค. 63 BTS ยื่นหนังสือให้ใช้ TOR เดิม แต่คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 กลับมีมติเปลี่ยนแปลง TOR ทำให้ในวันที่ 17 ก.ย.63 BTS ร้องศาลปกครองกลาง และศาลปกครองกลางจะมีการนัดไต่สวนครั้งแรกวันที่ 14 ต.ค.63

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC และ กรรมการบริหาร BTS เปิดเผยในฐานะผู้ฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง BTSC ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลปกครองกลางได้นัดไต่สวนคดีดังกล่าวเป็นครั้งแรก ซึ่งทั้งสองฝ่ายให้ข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากเอกสารที่ชี้แจงไปก่อนหน้านี้ โดยทาง BTSC ในฐานะผู้ฟ้องคดียังคงยืนยันคำฟ้อง 2 ส่วน คือ 1.ขอให้ยกเลิกเอกสารเพิ่มเติม ตามที่ รฟม.ประกาศออกมานอกเหนือจากเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ซึ่งมีผลทำให้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกสาร จากเดิมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา 100 คะแนน เป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน และ 2.ขอคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราวไม่ให้มีการเปิดซองประมูลจนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งตัดสินคดี

โดยประเด็นคำฟ้องดังกล่าว เนื่องจาก BTSC เห็นว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังประกาศขาย RFP ไปแล้วนั้น ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และไม่เป็นธรรม

อีกทั้ง รฟม.ยังดำเนินการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่อนุมัติเห็นชอบให้เปิดประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม และได้มีมติเห็นชอบถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกในรูปแบบเดิมแล้ว

"ตอนนี้ไม่มีเรื่องอะไรให้หนักใจ เราก็ยังมั่นใจว่าจะชนะ และเราคิดว่าเราฟ้องได้ จึงมาฟ้อง ส่วนเรื่องที่เรายังไม่เป็นผู้เสียหาย ก็ได้ชี้แจงต่อศาล ชี้แจงไปในเอกสารแล้ว ขอให้ศาลเป็นผู้พิจารณาว่าเสียหายหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ศาลยังไม่ได้มีการนัดไต่สวนเพิ่มเติม หรือนัดฟังคำตัดสิน"นายสุรพงษ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในกรณีหากศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครองฉุกเฉิน BTS ยังคงยืนยันที่จะเข้าร่วมประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเอกสารยื่นข้อเสนอ ซึ่งจะมีการจับมือร่วมกันพันธมิตร แต่จะมีพันธมิตรกลุ่มใดบ้างยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อการประมูล ขณะเดียวกันหาก รฟม.ล้มการประกวดราคาครั้งนี้ และประกาศขายซอง RFP ใหม่ BTS ก็คาดว่าจะเข้าร่วมประมูล แต่คงต้องขอศึกษาเงื่อนไขใน RFP ให้ดีก่อน

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า มั่นใจว่าจะชนะคดีเช่นกันหลังเข้าให้ข้อมูลการไต่สวนคดีดังกล่าว และยืนยันว่า BTS ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะการดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อเสนอเพิ่มเติมเป็นอำนาจของ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ดำเนินการได้ อีกทั้งการประมูลดังกล่าวยังไม่ได้เปิดให้ยื่นซองข้อเสนอ โดยให้ขยายระยะเพื่อให้ผู้ซื้อซองราคามีเวลาเตรียมตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นความเสียหายจึงยังไม่เกิดขึ้น ที่สำคัญ รฟม.ก็ยังไม่ได้ตัดสิทธิ BTS ในการเข้าประมูล คุณสมบัติต่างๆ ของผู้เข้าร่วมก็ยังเหมือนเดิม

ขั้นตอนหลังจากการไต่สวนของศาลปกครองกลางที่ได้รับฟังข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย น่าจะมีคำสั่งไม่เกินสัปดาห์หน้า โดยก็ต้องรอคำสั่งศาลออกมาก่อน ซึ่ง รฟม.ยังไม่มีแผนรองรับกรณีที่คำสั่งของศาลฯออกมาเป็นอย่างไร เพราะมั่นใจว่าศาลฯไม่น่าจะให้ความคุ้มครองตามคำร้อง BTS โดยทางศาลฯไม่ได้นัดทั้งสองฝ่ายมาให้ข้อมูลเพิ่มอีกแล้ว เว้นแต่จะต้องการข้อมูลเพิ่มเติม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ