รมว.คมนาคม เตรียมนำข้อมูลขยายสัมปทานสายสีเขียวชี้แจงนายกฯ-มหาดไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 3, 2020 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวถึงกรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวครอบคลุมส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการนั้น ขณะนี้รอนำข้อมูลชี้แจง ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในรายละเอียดสิ่งที่กระทรวงคมนาคมมีข้อมูลเพิ่มเติมในความเห็นเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการดำเนินการ และถูกต้อง ทั้งประเด็นการดำเนินการครบถ้วนตามมาตรา 44 ประเด็นการคำนวณอัตราค่าโดยสาร การบริหารทรัพย์สิน และข้อพิพาทที่มีการร้องเรียนไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากพิจารณาเรียบร้อย ตอบประเด็นข้อกฎหมายได้ ก็สามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขณะนี้ ถือว่ายังมีเวลาในการพิจารณาการต่อสัญญาเพื่อให้รอบคอบมากที่สุด เนื่องจากสัญญาสัมปทาน ระหว่างบมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์(BTS) หรือบีทีเอส กับกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะสิ้นสุดในปี 2572 และส่วนขยายอีกช่วง จะสิ้นสุดในปี 2585 ดังนั้น จึงไม่มีผลต่อการให้บริการแน่นอน

ส่วนที่คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกกทม.ชี้แจงและไม่ยอมรับในประเด็นค่าโดยสารนั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่าง กมธ.คมนาคมกับทางกทม. คนละส่วนกับของกระทรวงคมนาคม ซึ่งกระทรวงคมนาคมนั้นจะให้ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ศึกษาข้อมูลและนำเรียนนายกรัฐมนตรี

สำหรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีวิธีการคำนวณโดยใช้ตัวเลขจากดัชนีผู้บริโภค (CPI) และมีค่าเฉลี่ยระยะทางที่เดินทาง ซึ่งจะต้องเอาข้อมูลมาดูกันอย่างละเอียดและจะต้องอธิบายได้ ซึ่งทางคมนาคมและกรมราง ได้ทำข้อมูลไว้และพบว่า ตัวเลขค่าโดยสารที่คำนวณออกมามีความแตกต่างกัน ซึ่งเบื้องต้นพบว่าตัวเลขดัชนีผู้บริโภคที่นำมาคำนวณไม่ตรงกัน โดยต้องรอฟังทางกทม.อธิบายหลักการวิธีคำนวณ

เนื่องจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีสูตรที่เป็นมาตรฐานใช้กับการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายของรฟม. คำนวณอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกมาแล้วได้ค่าโดยสารที่ต่ำกว่า 65 บาท อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นกระทรงวงคมนาคม รฟม. หรือกระทรวงมหาดไทย กทม. มีหน้าที่ในการให้บริการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ซึ่งล่าสุด นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า รัฐและประชาชนต้องได้ประโยชน์ และสุดท้ายเมื่อได้อัตราค่าโดยสารออกมาแล้ว จะมีคณะกรรมการกำกับ คณะกรรมการบริหาร และยังต้องเสนอไปที่สำนักงานของกระทรวงการคลังด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ